กรุงเทพฯ 16 ม.ค. – ซีไอเอ็มบีไทยชี้น้ำท่วมใต้กระทบรายได้ชาวสวนยางและปาล์มน้ำมันลดลง มีผลจีดีพีครึ่งปีแรกโตต่ำกว่าร้อยละ 3 ด้านทีเอ็มบี ประเมินเม็ดเงินหายจากเศรษฐกิจภาคใต้ 27,400 ล้านบาท
นายอมรเทพ จาวาลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในภาคใต้ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบได้เต็มที่ แต่ยอมรับว่ามีผลกระทบทำให้เกษตรกรกรีดยางพาราและการเก็บผลปาล์มน้ำมันไม่ได้ และส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกรในภาคใต้ลดลง ซึ่งปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจภาคใต้มีสัดส่วนร้อยละ 8 ของจีดีพี และเศรษฐกิจภาคตะวันออกมีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น ผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ครั้งนี้อาจทำให้แรงส่งเศรษฐกิจครึ่งแรกของปี 2560 โตต่ำกว่าร้อยละ 3 และคาดว่าเศรษฐกิจจะเร่งตัวขึ้นช่วงครึ่งปีหลัง โดยคาดว่าทั้งปีจะขยายตัวร้อยละ 3.2
ส่วนแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวในระดับต่ำที่ร้อยละ 5 ซึ่งปกติการปล่อยสินเชื่อของธนาคารจะขยายตัว 1.5 – 3 เท่าของจีดีพี เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ยังห่วงหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่พุ่งสูงขึ้น จึงยังระวังการปล่อยสินเชื่อ ขณะเดียวกันหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงและภาวะสินเชื่อในภาคใต้ยังไม่เร่งตัวขึ้นได้ในทันที เพราะเมื่อประชาชนเริ่มซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ แล้วก็จะตั้งใจออมเงินมากกว่าจับจ่าย ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจระยะยาว
ด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินผลกระทบน้ำท่วมภาคใต้ ตั้งแต่ 2 มกราคม 2560 กระทบกับพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ ประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมถึงธุรกิจท่องเที่ยวภาคใต้น่าจะทำให้เม็ดเงินหายจากเศรษฐกิจภาคใต้ประมาณ 27,400 ล้านบาท โดยชาวสวนยางพาราได้รับผลกระทบที่สุด เพราะฝนที่ตกต่อเนื่อง น้ำท่วมและการขนส่งถูกตัดขาด ทำให้ผลผลิตยางทั้งระบบลดลง 281,000 ตัน หรือร้อยละ 6.3 ของปริมาณยางทั้งปีทั่วประเทศ คิดเป็นเม็ดเงิน 19,124 ล้านบาท ธุรกิจผลิตยางแผ่น ยางแท่ง รมควันยาง น้ำยางข้น จำเป็นต้องหยุดผลิตชั่วคราว
ด้านปาล์มน้ำมัน คาดผลผลิตลดลงกว่า 500,000 ตัน หรือร้อยละ 4.8 ของปริมาณผลผลิตทั้งปีทั่วประเทศ มูลค่าประมาณ 2,939 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลผลิตที่ลดลงจะเกิดเพียงช่วงสั้น เนื่องจากยางพาราและปาล์มจะกลับมาผลิตได้ตามปกติหลังน้ำลด ส่วนฟาร์มเลี้ยงกุ้ง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญตามแนวชายฝั่งทะเลภาคใต้ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม คาดว่าทำให้ผลผลิตกุ้งลดลงกว่า 4,500 ตัน มูลค่าประมาณ 838 ล้านบาท และต้องใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือนเพื่อฟื้นฟูการเพาะเลี้ยงกุ้งให้เข้าสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก แต่ก็กระทบต่อพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันตกซึ่งเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวเช่นกัน เนื่องจากนักท่องเที่ยวเกิดความไม่มั่นใจในสถานการณ์ บางส่วนอาจยกเลิกหรือชะลอการเดินทางเพื่อรอดูสถานการณ์ให้ชัดเจนขึ้น ทำให้ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านสนามบินต่าง ๆ และยอดเข้าพักแรมลดลงคิดเป็นการเสียโอกาสสร้างรายได้ประมาณ 3,533 ล้านบาท แต่หากเหตุการณ์น้ำท่วมคลี่คลายทั้งหมดก่อนเดือนกุมภาพันธ์มูลค่าความเสียหายจะลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้
อย่างไรก็ตาม หลังภาวะน้ำท่วมคาดว่าเศรษฐกิจภาคใต้จะฟื้นตัวค่อนข้างเร็ว จากการเร่งใช้จ่ายเพื่อบูรณะฟื้นฟูของประชาชน การลงทุนปรับปรุงซ่อมแซมสาธารณูปโภคต่าง ๆ ของรัฐ รวมถึงราคายางพาราที่เพิ่มขึ้นก่อนหน้านี้มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากภาวะผลผลิตที่ลดลง เนื่องจากน้ำท่วมครั้งนี้ เกษตรกรชาวสวนจึงมีรายได้สำหรับจับจ่ายใช้สอยออกสู่เศรษฐกิจภาคใต้มากขึ้นเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจขายสินค้าอุปโภค-บริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง ธุรกิจผู้รับเหมาก่อสร้าง อู่ซ่อมรถ อีกทั้งยังมีโอกาสทยอยระบายสตอกยางพาราของรัฐในช่วงที่ผลผลิตลดลงเพราะน้ำท่วม เพื่อไม่ให้สตอกยางกดดันราคายางให้ลดลงในอนาคต เรียกว่า ฝันร้ายกำลังจะผ่านไป ข่าวดีก็ต่อคิวเข้ามาต่อเนื่องให้เศรษฐกิจภาคใต้ฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว .- สำนักข่าวไทย