ศาลรัฐธรรมนูญ 8 ธ.ค.-ศาลรัฐธรรมนูญชี้ 5 กปปส. สิ้นสมาชิกภาพ ส.ส. ตั้งแต่หยุดปฏิบัติหน้าที่ 7 เม.ย. 64 ให้จัดเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างภายใน 45 วัน เลื่อนลำดับ ส.ส.บัญชีรายชื่อภายใน 7 วัน
ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสี่ ว่าสมาชิกภาพ ส.ส. นายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ ผู้ถูกร้องที่ 1 นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ผู้ถูกร้องที่ 2 นายอิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ผู้ถูกร้องที่ 3 นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ผู้ถูกร้องที่ 4 และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ผู้ถูกร้องที่ 5 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) (6) และมาตรา 96(2) หรือไม่ จากเหตุต้องคำพิพากษาศาลอาญาจำคุกในคดีชุมนุม กปปส. ปี 2557
ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) บัญญัติว่าสมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงเมื่อมีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 98 (4) เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง คืออยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และมาตรา 98 (6) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังโดยหมายของศาล ซึ่งการที่รัฐธรรมนูญกำหนด เนื่องจาก ส.ส.ทำหน้าที่นิติบัญญัติ จึงต้องได้รับการกลั่นกรองคุณสมบัติลักษณะต้องห้าม ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีการกระทำผิดมัวหมอง อีกทั้งมาตรา 96 และ 98 บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน ไม่อาจตีความเป็นอย่างอื่นได้
ส่วนข้อโต้แย้งที่ว่าการทำผิดอาญาของผู้ถูกร้องที่ 1-5 มาจาการชุมนุมแสดงออกความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยรับรองว่าเป็นการแสดงออกเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอันเป็นสิทธิโดยชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ เป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้รับรองการกระทำผิดตามกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่นไว้ ข้อโต้แย้งนี้จึงฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่แย้งว่าการที่ศาลอาญาไม่ปล่อยตัวชั่วคราวไม่ใช่การสั่งจำคุกนั้น ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โต้แย้งว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 98 (6) ต้องถูกคุมขังจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ได้นั้น ฟังไม่ขึ้น เรื่องความคุ้มกันของสมาชิกรัฐสภาในสมัยประชุมที่ไม่อาจถูกจับคุมขัง หรือขัดขวางต่อการปฏิบัติสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะมาประชุมสภา เป็นการให้ความคุ้มกันระหว่างการพิจารณาคดี แต่กรณีดังกล่าวคดีสิ้นสุดแล้ว ข้อโต้แย้งดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น ส่วนข้อโต้แย้งที่อ้างว่าลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(6) เป็นลักษณะต้องห้ามที่ใช้ก่อนการรับสมัครรับเลือกตั้งเท่านั้น เห็นว่าหาก ส.ส.มีลักษณะต้องห้ามตามมาตราดังกล่าว ย่อมเป็นเหตุให้ ส.ส.สิ้นสุดลงได้ ข้อโต้แย้งดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น
อาศัยเหตุผลข้างต้นจึงวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของผู้ถูกร้องที่ 1, 3 ,5 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(4) ประกอบมาตรา 96(2) สมาชิกภาพของผู้ถูกร้องที่ 2 และ 4 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ101(6) ประกอบมาตรา 98(6) นับตั้งแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ คือ วันที่ 7 เมษายน 2564 และให้ถือว่าวันที่ตำแหน่ง ส.ส. ของผู้ถูกร้องที่ 1-4 ว่างลงคือวันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย คือวันที่ 8 ธันวาคม 2564
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคำวินิจฉัยดังกล่าว ทำให้มีตำแหน่งของส.ส.เขตว่างลง ในพื้นที่เขต 1 ชุมพรและเขต 6 สงขลา ให้ตราพระราชกฤษฎีกาให้จัดการเลือกตั้งภายใน 45 วัน นับตั้งแต่วันที่ศาลอ่านคำวินิจฉัย (8 ธ.ค.) ส่วนตำแหน่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่ว่างลง ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรประกาศรายชื่อผู้ที่อยู่ในบัญชีลำดับถัดไปของพรรคการเมืองนั้นมาเป็น ส.ส.แทน และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายใน 7 วัน ซึ่งในส่วนของพรรคพลังประชารัฐคือ นายต่อศักดิ์ อัศวเหม ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ คือ นายจักรพันธ์ ปิยะพรไพบูลย์.-สำนักข่าวไทย