กรุงเทพฯ 22 ต.ค. – กรมควบคุมโรค ห่วงประชาชนในพื้นที่น้ำท่วม เพิ่มความระมัดระวังในการเดินทาง และหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมทางน้ำ
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ห่วงประชาชนในพื้นที่น้ำท่วม ขอให้เพิ่มความระมัดระวังในการเดินทาง ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมทางน้ำ อาทิ ห้ามออกหาปลาช่วงน้ำไหลหลาก ขับรถหรือเดินฝ่าบริเวณน้ำท่วม ห้ามปล่อยเด็กเล่นน้ำ เสี่ยงต่อการถูกกระแสน้ำพัดพา หรืออาจจมน้ำเสียชีวิตได้
วันนี้ (22 ตุลาคม 2564) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนอง และฝนตกหนักบางแห่ง รวมถึงฝนที่ตกสะสม ส่งผลให้พื้นที่เสี่ยงภัยเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ที่น่าห่วงคือการจมน้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่พบมากที่สุดเมื่อเกิดน้ำท่วม
จากการเฝ้าระวังการจมน้ำในช่วงน้ำท่วมของกรมควบคุมโรค ระหว่างวันที่ 23 กันยายน – 19 ตุลาคม 2564 พบผู้เสียชีวิตสะสมรวม 67 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 45 ปีขึ้นไป เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิงถึง 4 เท่า สาเหตุหลักคือ พลัดตกน้ำ ออกหาปลาขณะน้ำไหลเชี่ยว ส่วนในกลุ่มเด็ก คือ การเล่นน้ำในพื้นที่น้ำท่วม เดินลุยน้ำและถูกน้ำพัด เป็นต้น โดยในทุกกลุ่มอายุพบว่ามีประวัติการดื่มแอลกอฮอล์ก่อนเกิดเหตุการณ์ถึงร้อยละ 14 และจุดเกิดเหตุเป็นบริเวณทุ่งนามากที่สุด รองลงมาเป็นบริเวณรอบบ้าน ส่วนจังหวัดที่พบการจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด คือ ลพบุรี และนครราชสีมา (จังหวัดละ 10 ราย)
กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม หรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมฉับพลัน ขอให้ระมัดระวังและเพิ่มความปลอดภัยจากการจมน้ำ ดังนี้ 1. อพยพไปยังพื้นที่สูง รีบออกจากพื้นที่ในกรณีเกิดน้ำท่วมฉับพลัน 2. เพิ่มความระมัดระวังในการเดินทาง ไม่ควรขับรถผ่านถนนที่มีน้ำท่วม โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ เพราะความสูงของน้ำเพียง 6 นิ้ว สามารถทำให้เสียหลักล้มได้ และให้สวมเสื้อชูชีพ หรือนำอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ ติดตัวไปด้วยเสมอ เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่าปิดฝา เพื่อใช้สำหรับยึดเกาะพยุงตัว 3. หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมทางน้ำ เช่น หาปลา เก็บผัก ระหว่างที่มีน้ำเชี่ยว เพราะอาจเสี่ยงต่อการถูกกระแสน้ำพัดพา หรือตกลงไปในบ่อน้ำลึกได้ 4. ไม่ควรให้เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือผู้มีโรคประจำตัว อยู่ตามลำพัง 5. งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด และ 6. ให้ติดตามข้อมูลข่าวสาร สภาพอากาศ ตามประกาศเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422. – สำนักข่าวไทย