เดนมาร์ก 5 มี.ค.-นักพัฒนาซอฟต์แวร์เดนมาร์กคิดค้นแอพพลิเคชั่นใช้งานบนสมารท์โฟน เพื่อเป็นดวงตาให้แก่ผู้พิการทางสายตา
แอนน์ แฮนเซ่น นักจิตบำบัดชาวเดนมาร์ก วัย 50 ปี ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอาร์พี ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ทำให้เกิดภาวะอาการตาบอดกลางคืน จึงมีปัญหาในการมองเห็น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีแสงน้อย จนเมื่อ 10 ปีก่อน แฮนเซ่นสูญเสียการมองเห็นไปโดยสิ้นเชิง แต่ความบกพร่องของดวงตากลับไม่ได้เป็นอุปสรรคให้เธอสนุกกับการใช้ชีวิตเยี่ยงคนปกติทั่วไป โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีผู้ช่วยสุดล้ำอย่าง “บี มาย อายส์” แอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน ที่จะทำหน้าที่ต่างดวงตาให้กับผู้ที่มีความบกพร่องทางสายตา
“บี มาย อายส์” จะช่วยเชื่อมโยงกับอาสาสมัคร ซึ่งทำหน้าที่ผู้ช่วยเหลือผ่านกล้องถ่ายทอดสดออนไลน์ หรือสตรีมมิ่ง ซึ่งจะทำให้ผู้ช่วยเหลือมองเห็นเส้นทาง หยิบจับสิ่งของ อ่านหนังสือ หรือภารกิจที่ผู้มีความบกพร่องทางสายตาต้องอาศัยการมองเห็นเป็นหลัก ซึ่งในกรณีของแฮนเซ่น แอพพลิเคชั่นนี้ช่วยให้เธอหยิบอาหารกระป๋อง ตั้งอุณหภูมิเตาอบได้ถูกต้อง
ขณะนี้มีผู้ดาวน์โหลดแอพ “บี มาย อายส์” แล้วเกือบ 400,000 คน หรือเฉลี่ยมีอาสาสมัคร 12-13 คนต่อผู้มีความบกพร่องทางสายตา 1 คน และเพื่อไม่ให้รบกวนผู้ช่วยเหลือมากเกินไป แอพพลิเคชั่นนี้ยังตั้งระบบไม่ให้โทรศัพท์หาผู้ช่วยเหลือในช่วงเวลาเช้าตรู่หรือกลางดึก แต่หากจำเป็นต้องการความช่วยเหลือในช่วงเวลาดังกล่าว แอพนี้ก็จะค้นหาผู้ช่วยเหลือในต่างประเทศที่มีความต่างของเวลา ทำให้การช่วยเหลือไม่เป็นการรบกวนจนเกินไป
แม้จะตั้งเป้าเป็นดวงตาให้แก่ผู้บกพร่องทางการมองเห็น แต่ฮันส์ จอร์เกน ไวเบิร์ก ผู้คิดค้นและพัฒนา “บี มาย อายส์” ซึ่งมีปัญหาทางสายตาจากโรคอาร์พีเช่นกัน ก็คาดหวังว่าแอพนี้จะเป็นเสมือนเครื่องมือให้คนทั่วไปตระหนักใส่ใจและยื่นมือช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาคนอื่นๆ ในชีวิตประจำวันมากขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งพาแต่แอพพลิเคชั่น.-สำนักข่าวไทย