กรุงเทพฯ 17 มิ.ย. – เอกชนขานรับนโยบาย 120 วัน เปิดประเทศของนายกฯ แต่ยังกังวลวัคซีนจะเข้ามามากพอฉีดให้คนทั้งประเทศหรือไม่ ด้านนักวิชาการมองดันเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวบ้าง แต่ยังจำเป็นต้องใช้มาตรการภาครัฐเสริม
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย โดยตั้งเป้าหมายประเทศไทยต้องเปิดประเทศ ภายใน 120 วัน โดยจะเร่งเดินหน้าแผนฉีดวัคซีนให้กับพี่น้องประชาชนทั้งประเทศอย่างเต็มที่ เพื่อเริ่มการพลิกฟื้นจากวิกฤติโควิด-19 ของประเทศให้กลับมาดีขึ้น โดยมองว่า ถ้ารัฐบาลเปิดประเทศได้จริงภายใน 120 วัน จะเป็นประโยชน์และดีต่อประเทศชาติอย่างมาก โดยเฉพาะถือเป็นประวัติศาสตร์ของชาติที่ประเทศสามารถผ่านปัญหาดังกล่าวมาได้ ซึ่งภาคเอกชนพร้อมสนับสนุนภาครัฐอย่างเต็มที่ในการเดินหน้าเปิดประเทศภายใน 120 วัน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประเทศไทยจะต้องเตรียมความพร้อมก่อนจะเปิดประเทศตามแผนที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงไว้ โดยภาครัฐจะต้องเปิดโครงการนำร่องที่ จ.ภูเก็ต หรือ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ให้ได้ก่อน เพื่อเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวมาเที่ยวใน จ.ภูเก็ต อย่างเต็มที่ และผ่อนคลายเงื่อนไขกรณีที่นักท่องเที่ยวมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 มาแล้วถึง 2 เข็ม เพราะเชื่อว่าจะเป็นโครงการจังหวัดนำร่องที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวจากหลายประเทศได้หันกลับมาท่องเที่ยวในประเทศไทย ขณะเดียวกัน หากทุกอย่างสามารถควบคุมได้ดี โอกาสจังหวัดท่องเที่ยวที่เหลืออีก 10 จังหวัด น่าจะเปิดให้บริการรับนักท่องเที่ยวได้ในช่วงปลายปี ตามแนวทางเปิดประเทศภายใน 120 วัน ของนายกรัฐมนตรี ที่จะมีนักท่องเที่ยวจากหลายประเทศสนใจเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้นได้
ทั้งนี้ สิ่งที่ภาคเอกชนยังกังวลใจอยู่ คือ ปริมาณวัคซีนจะต้องมีเพียงพอและมีมากตามที่รัฐบาลประกาศไว้ว่า ปี 64 ประเทศไทยต้องได้รับวัคซีนมากถึง 100 ล้านโดส และประชาชนได้รับวัคซีนมากถึงกว่าร้อยละ 50-70 ไปแล้ว หากเป็นเช่นนี้จริงจะทำให้คนไทยมีภูมิคุ้มกันหมู่ได้ แต่หากปริมาณวัคซีนมีไม่เพียงพอและไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวภายใน 120 วัน อาจจะทำให้คนไทยติดเชื้อโควิดกันมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลจะต้องพิจารณาและดูปัญหาเหล่านี้ให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ก่อนที่จะเปิดประเทศภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ภาครัฐจะต้องเร่งหามาตรการเสริมให้กับกลุ่มภาคธุรกิจด้านการท่องเที่ยวทุกกลุ่มให้ฟื้นตัวขึ้น โดยเมื่อวานนี้ (16 มิ.ย.) หอการค้าไทยได้มีการหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาคท่องเที่ยวและบริการ ให้สามารถประคองธุรกิจและรักษาการจ้างงาน โดยหอการค้าไทยจะไปหารือกับสภาพัฒน์ฯ และกระทรวงการคลัง เพื่อหามาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยหอการค้าไทยพร้อมเชื่อมต่อกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมต่อการเปิดประเทศตามแนวทางของนายกรัฐมนตรีได้ต่อไป
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การเปิดประเทศภายใน 120 วัน ที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงไว้ ถือเป็นสัญญาณที่ดีและน่าจะเป็นไปได้ แต่การบริหารจัดการวัคซีนที่จะฉีดให้กับคนไทยทุกกลุ่มจะต้องเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ เพราะการเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ประเทศไทยมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน ก่อนที่จะเปิดประเทศเพิ่มเติมได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ซึ่งตามแผนการเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ที่ทางสภาพัฒน์ฯ ได้ประเมินไว้ จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 500,000 คน และหากไตรมาสที่ 4 ไทยเปิดประเทศเพิ่มเติมได้จริง นั่นหมายถึงน่าจะมีนักท่องเที่ยวมาได้มากขึ้นถึง 1 ล้านคน หรืออาจจะมากกว่านี้ เท่ากับจะมีเม็ดเงินใช้จ่ายด้านท่องเที่ยว 50,000-100,000 ล้านบาท ซึ่งกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 4 ได้ถึงร้อยละ 1 หรือดันจีดีพีของประเทศทั้งปีได้ถึงร้อยละ 0.3 ของจีดีพี
“แม้ว่าจะมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ เพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 แต่โดยภาพรวมยังไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจทั้งประเทศฟื้นตัวได้ทันที เพราะรัฐบาลยังจำเป็นต้องหามาตรการอื่นๆ มากระตุ้นกำลังซื้อให้กับคนทั้งประเทศอยู่ต่อไป โดยให้ดูว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวจริงแค่ไหน คนส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นในด้านต่างๆ หรือยัง มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีแค่ไหน ดังนั้น ยังเห็นว่ารัฐบาลจะต้องหามาตรการเสริมกำลังซื้อให้คนทั้งประเทศในช่วงไตรมาสที่ 4 แต่มาตรการกระตุ้นกำลังซื้ออาจจะน้อยกว่าในช่วงไตรมาสที่ 3 เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้จริงในช่วงต้นปีหน้าได้ต่อไป” นายธนวรรธน์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย