ภูมิภาค 14 มิ.ย. – ป.ป.ช. เร่งสอบโครงการเสาไฟกินรี และเสาไฟประติมากรรมทุกจังหวัด ปัดตอบคุ้มค่า เป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือไม่ ชี้ทุกรูปแบบศิลปะหาราคากลางได้
นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กล่าวกรณีสั่งให้ ป.ป.ช.จังหวัด ดำเนินการตรวจสอบโครงการจัดซื้อเสาไฟฟ้ารูปประติมากรรมกินรี และการสร้างเสาไฟประติมากรรมขององค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ว่าเรื่องนี้ต้องมีการรวบรวมพยานหลักฐานว่าโครงการดังกล่าวมีความคุ้มค่าต่อประชาชนอย่างไร และมีเหตุผลอย่างไรในการดำเนินการ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่ จ.สมุทรปราการ ที่เดียว แต่เกิดขึ้นในอีกหลายแห่งก็ให้ตรวจสอบเช่นเดียวกัน และคงต้องทำควบคู่กับการทำข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานต่างๆ ว่าเวลาจะดำเนินโครงการอะไรขอให้พิจารณาว่าโครงการดังกล่าวว่าจะเกิดความคุ้มค่ากับประชาชนมากน้อยแค่ไหน ส่วนโครงการที่ จ.สมุทรปราการ ถือว่าคุ้มค่ากับประชาชนหรือไม่ ขณะนี้ขอยังไม่พูดอะไร ให้เขารวบรวมข้อมูลมาก่อน
ด้านนายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษก ป.ป.ช. กล่าวว่า การใช้วิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐของเอกชนในการประมูลงานภาครัฐ ซึ่งรวมถึงโครงการนี้ ป.ป.ช. มีข้อสังเกตในหลายกรณี ป้องกันเพื่อไม่ให้มีการฮั้วประมูล แต่ในทางปฏิบัติไม่มีหลักฐานชัดว่าการเคาะราคามีการรู้กันก่อนหรือไม่ ยืนยันว่าในส่วนของรูปแบบงานศิลปะสามารถหาราคากลางได้อยู่แล้ว ในการตรวจสอบเรื่องนี้ของ ป.ป.ช จะดูตั้งแต่การตั้งโครงการ จุดที่ตั้งโครงการ ทีโออาร์ การออกแบบ และราคากลาง ควรราคาเท่าใด
ด้านนายอุดม กลิ่นพวง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองปรือ จ.สมุทรปราการ เจ้าของพื้นที่เสาไฟประติมากรรมโซลาร์เซลล์รูปเครื่องบิน บอกว่าไม่กังวลหาก ป.ป.ช. จะตรวจสอบการจัดซื้อเสาไฟฟ้าดังกล่าว เพราะทุกขั้นตอนมีความโปร่งใส และใช้วัสดุที่ผ่านการคัดเลือกให้เหมาะกับการใช้งาน ในราคาต้นละ 92,769 บาท ไม่ใช่ต้นละกว่าแสนบาทตามที่มีการแชร์กันในโลกโซเชียล โดยเสาประติมากรรมโซลาร์เซลล์รูปเครื่องบินมีทั้งหมดกว่า 300 ต้น ติดตามถนนสายหลักที่มีเลนส์จักรยาน เพื่อออกกำลังกาย ท่องเที่ยว และเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่ ส่วนตามซอยย่อยจะเป็นเสาไฟโซลาร์เซลล์แบบธรรมดา
นอกจากนี้ยังมีโครงการที่จะติดตั้งเสาไฟประติมากรรมโซลาร์เซลล์รูปเครื่องบิน ในถนนทางเข้าสนามบิน เป็นระยะทาง 2 กิโลเมตร แม้จะมีกระแสการโจมตีราคา ความคุ้มค่า แต่ทุกขั้นตอนตรวจสอบได้
ส่วนที่ จ.เชียงราย นายทัศนัย สุธาพจน์ นายอำเภอเชียงของ ชี้แจงกรณีเสาไฟส่องสว่างปลาบึกเสียบไม้ใน โครงการปรับภูมิทัศน์บริเวณสวนสาธารณะด่านชายแดน พื้นที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ว่าคุ้มค่างบประมาณของทางราชการหรือไม่ว่า เสาไฟดังกล่าวสร้างเสร็จมาแล้ว 4 ปี งบประมาณราว 1.4 ล้าน จำนวน 22 ต้น เฉลี่ยต้นละ 65,000 บาท ซึ่ง โครงการนี้อำเภอได้รับมอบหมาย จากทาง จ.เชียงราย เมื่อปี 2560 ให้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง โดยมีการประมูลงานตามขั้นตอน และการสร้างเสาโคมไฟปูนปั้นนี้เป็นการออกแบบให้สอดคล้องกับลานปลาบึกเจ็ดสีที่เป็นสวนสาธารณะใกล้กับท่าเรือบั๊ค ที่มีรูปปั้นปลาบึกขนาดใหญ่ ติดกับด่านพรมแดนท่าเรือข้ามฟากเชียงของ-ห้วยทราย ซึ่งเป็นที่พักผ่อนออกกำลังกายของคนเชียงของ คนต่างถิ่น และคนท่องเที่ยว ซึ่งเสานี้เป็นรูปบึกพันรอบเสา ไม่ใช่ปลาบึกเสียบไม้ โดยเรื่องของโครงสร้างที่ต้องให้ตัวปลาบึกยึดกับเสาได้
ทั้งนี้ ชาว อ.เชียงของ ส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นการทำให้เกิดจุดเด่นของ อ.เชียงของ ที่จะแสดงให้เห็นถึงเมืองแห่งปลาบึก และอาจมีคนบางคนเห็นว่าไม่ดี วิพากษ์วิจารณ์ได้ ซึ่งที่ผ่านมาพื้นที่ดังกล่าวได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวมาแล้วหลายครั้ง รวมทั้งการทำกิจกรรมวิ่ง ปั่นจักรยาน ของชาว อ.เชียงของ และผู้ที่ให้ความสนใจในการออกกำลังกาย
ที่ จ.กาญนบุรี ผู้สื่อข่าวไปตรวจสอบเสาไฟส่องสว่างในพื้นที่เทศบาลตำบลหวายเหนียว อ.ท่ามะกา ซึ่งมีเสาไฟฟ้าส่องสว่างเป็นรูปกามเทพ แต่เมื่อได้เข้าดูแล้วพบว่ามีเสาไฟประมาณ 20 ต้น ในซอยเข้าหมูบ้านหวายเหนียว มีเสาไฟหัวเสามีรูปเทพคิวปิดนั่งถือหลอดไฟส่องสว่างจริง แต่พบว่าเสาบางต้นไม่มีหลอดไฟ ตัวเสาเกิดสนิมแดง เพราะสร้างมาหมายปี จึงได้ติดต่อไปยังเทศบาล แต่เป็นเวลาเลิกงานแล้ว และนายกเทศบาลก็ติดต่อไม่ได้ จึงยังไม่ทราบถึงที่มาโครงการทั้งหมด แต่ทราบจากชาวบ้านบอกว่า นายประยูร ลี้ไพบูลย์ นายกเทศบาลหวายเหนียว เป็นผู้สร้างเสาไฟใช้รูป “เทพคิวปิด” นี้ขึ้นมา เนื่องจากอดีตชาวบ้านในซอยมีปัญหาไม่ค่อยจะลงรอยกัน จึงได้ไกล่เกลี่ยจนชาวบ้านเกิดความรักความสามัคคี จึงสร้างเสาไฟที่เป็นรูป “เทพคิวปิด” ขึ้นมา .-สำนักข่าวไทย