ศาลรัฐธรรมนูญ 3 มี.ค.-พรรคฝ่ายค้านส่งความเห็น 7 หน้ายืนยันรัฐสภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ชี้คำร้อง“ไพบูลย์” อันตราย เชื่อศาลวินิจฉัยก่อนลงมติวาระ 3
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชน นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล นายธงชาติ รัตนวิชา พรรคประชาชาติ เข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอส่งบันทึกถ้อยคำและความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญประกอบการพิจารณาวินิจฉัยในคดีที่ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
นายประเสริฐ กล่าวว่า พรรคฝ่ายค้านเห็นว่าศาลได้ขอความเห็นจากนักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องเรื่องนี้จำนวน 4 คน ดังนั้น เพื่อเป็นการเปิดรับฟังความเห็นจากหลายฝ่ายจึงได้ขอส่งบันทึกถ้อยคำเป็นข้อมูลต่อศาลรวม 7 หน้าเพื่อยืนยันว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 156 (15) บัญญัติไว้ชัดเจนว่ารัฐสภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญจะทันต่อการที่สภาจะพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ในช่วงวันที่ 17-18 มีนาคมนี้
“ฝ่ายค้านยังไม่ได้พูดคุยกันว่าหากการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)ไม่สามารถเป็นไปได้แล้วจะทำอย่างไร เพราะเราคาดหวังไว้ว่ารัฐสภาน่าจะผ่านวาระ 3 ได้ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญ ประชาชนเรียกร้อง รัฐสภาที่เป็นตัวแทนของประชาชนจะเห็นด้วยกับการผ่านวาระ 3” นายประเสริฐ กล่าว
นายชัยธวัช กล่าวว่า ไม่ควรยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพราะไม่ใช่ปัญหาเรื่องอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา อีกทั้งรัฐธรรมนูญกำหนดชัดเจนว่าสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตราได้ โดยมีข้อจำกัดเพียงห้ามแก้ไขเรื่องที่กระทบต่อระบอบการปกครองและรูปแบบของรัฐ ดังนั้นการแก้ไขโดยให้มีส.ส.ร.จึงอยู่ในกรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ กระบวนการยังอยู่ในกรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนด จึงให้ความเห็นในบันทึกที่ส่งศาลในวันนี้ การเสนอแก้ไขในลักษณะที่กระทำอยู่สามารถทำได้ และเป็นอำนาจของรัฐสภา
“ในอดีตตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2534 ก็ทำในลักษณะนี้ จนนำไปสู่การตั้ง ส.ส.ร.และมีรัฐธรรมนูญ 2540 จึงยืนยันในฐานะพรรคร่วมฝ่ายค้านว่ารัฐสภามีอำนาจ ไม่เห็นว่าสิ่งที่ดำเนินการอยู่ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ ซึ่งในญัตติที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน และสมาชิกวุฒิสภายื่น ไม่ได้พูดแค่อำนาจรัฐสภา แต่พูดถึงแม้กระทั่งการจำกัดอำนาจของประชาชนที่จะออกเสียงลงประชามติว่าจะให้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ ซึ่งเป็นอันตรายมาก หมายความว่าถ้าญัตตินี้ศาลรัฐธรรมนูญเห็นด้วยกับความเห็นที่ไพบูลย์กับคณะยื่น จะทำให้ประเทศไทยไม่สามารถจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้” นายชัยธวัช กล่าว
นายชัยธวัช กล่าวว่า ในระบบรัฐสภาภายใต้กระบวนการประชาธิปไตย จะแก้ไข จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้อีกครั้งเมื่อมีรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ มีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่บัญญัติไว้ว่าจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น แม้แต่การทำประชามติในญัตติของนายไพบูลย์ การจะถามประชาชนว่าเห็นด้วยกับการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ก็ทำไม่ได้ เพราะจะขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้มีบทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ซึ่งตรรกะแบบนี้อันตรายมาก
นายสงคราม กล่าวว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้ห้ามแก้ไข ซึ่งหมวด 1 และ 2 ได้ยืนยันชัดเจนแล้วว่าจะไม่แก้ไข จึงไม่ใช่เป็นการร่างใหม่ทั้งฉบับ พรรคฝ่ายค้านยังไม่ได้เตรียมแผน 2 กรณีที่ไม่สามารถตั้งส.ส.ร.ได้ เพราะบรรยากาศในการประชุมกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยความราบรื่น ตัวแทนทั้งฝ่ายค้าน รัฐบาลและส.ว. ถ้อยทีถ้อยอาศัย ดูแล้วเหมือนมีความจริงใจแก้ไขตามที่บางพรรคการเมืองเคยหาเสียงไว้ และตามที่นายกรัฐมนตรีเคยระบุว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ
“เราก็คิดว่าบ้านเมืองจะไปได้ การปรองดองจะเกิดขึ้น ถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่กลับยื่นให้ศาลวินิจฉัย ในเรื่องนี้รู้สึกเสียใจ เสียดาย ยังหวังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมองในทางบวก เพราะถ้ารัฐธรรมนูญแก้ไขไม่ได้ บ้านเมืองจะเกิดความวุ่นวาย” นายสงคราม กล่าว.-สำนักข่าวไทย