กรุงเทพฯ 14 ธ.ค. – SPCG ลงทุนเพิ่มในอีอีซี 300 เมกะวัตต์ปี 64 ตามนโยบายร่วมมือ PEA ENCOM ผลิตไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มในอีอีซี 500 เมกะวัตต์ในปี 69 ตามแผน Low Carbon Society ในอีอีซี มีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนสัดส่วน 30 %
นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG เปิดเผยว่า ปี 2564 จะลงทุนผลิตไฟฟ้า 300 เมกะวัตต์ ในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) สำหรับใช้ในพื้นที่เมืองใหม่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จากกำลังผลิตไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2569 มูลค่าลงทุนรวมทั้งโครงการไม่เกิน 23,000 ล้านบาท และจะทำให้ปี 2565 รายได้ของ SPCG จะเพิ่มขึ้นเป็นรวม 6,000-7,000 ล้านบาท จากที่ปี 2563 มีรายได้ประมาณ 5,000 ล้านบาท กำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนประมาณ 500 เมกะวัตต์ ทั้งในไทยและญี่ปุ่น ขณะเดียวกันปี 2564 ตั้งเป้าหมายจะเจรจาจบดีลการซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่นเพิ่มอีก 100 เมกะวัตต์ และภาพรวมในปี 2569 กำลังผลิตของ SPCG จะมีกำลังผลิตรวม 1,000 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ โครงการในอีอีซี ดำเนินการภายใต้การดำเนินการลงทุนของบริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด (SET Energy) มีผู้ถือหุ้นประกอบด้วย SPCG สัดส่วน 40%, บริษัท มิตซู เพาเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (Mitsu) ถือหุ้น 40% และบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) ในเครือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ถือหุ้น 20% และ SPCG จะเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท เพื่อพิจารณาอนุมัติการลงทุนในวันที่ 15 มกราคม 2564 และอนุมัติให้ SPCG ซื้อหุ้นในสัดส่วนของมิตซู เพาเวอร์ ที่ถือหุ้นทำให้บริษัทเป็นผู้ถือหุ้น 80 %
นางวันดี กล่าวว่า รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 เพื่อที่จะผลักดันให้ภาคตะวันออก 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เป็นพื้นที่ EEC กำหนดให้เป็นพื้นที่สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) ด้วยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ที่เป็นพลังงานสะอาด เพื่อให้เกิดเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) และคณะกรรมนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ได้มอบหมายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) รับผิดชอบในการจัดหาพลังงานให้เพียงพอกับความต้องการ และให้จัดหาไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด เพื่อใช้ในพื้นที่ EEC โดย PEA ได้มอบหมายให้บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว กำหนดสัดส่วนให้การใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลต่อพลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้าจะอยู่ที่ร้อยละ 70:30 โดยปัจจุบัน EEC มีความต้องการใช้ไฟฟ้า 4,476 เมกะวัตต์ และปี 2580 คาดจะเพิ่มเป็น 10,000 เมกะวัตต์
โครงการนี้จะช่วยให้เกิดการจ้างงานกว่า 50,000 คนในช่วงของการพัฒนาโครงการ รวมถึงยังช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ไม่น้อยกว่า 11 ล้านตันคาร์บอน ภายในระยะเวลา 30 ปี หรือประมาณ 400,000 ตันคาร์บอนต่อปี การร่วมทุนครั้งนี้จะทำให้ไทยเป็นพื้นที่สะอาดต้นแบบ เป็นพื้นที่ชั้นนำของโลกในการใช้พลังงานสะอาดจากพลังงานแสงอาทิตย์ ภายใต้แนวคิด Low Carbon Society อันดับที่ 8 ของโลก. -สำนักข่าวไทย