กรุงเทพฯ 22 ต.ค. – ปลัดเกษตรฯ แนะเกษตรกรปรับปรุงทะเบียน เตรียมรับความช่วยเหลือกรณีประสบภัยพิบัติ ล่าสุดยังมีพื้นที่ประสบภัย 20 จังหวัด สั่งกรมชลฯ เร่งระบายน้ำ ทุกหน่วยงานเข้าช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรที่เดือดร้อน
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2020/10/ทองเปลว-1-1024x685.jpg)
นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรรายงานสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตรว่า ยังมีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา อุบลราชธานี ชัยภูมิ บุรีรัมย์ กำแพงเพชร อุทัยธานี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี สระแก้ว ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี ตรัง นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี แต่ยังย้ำให้ติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่าพายุโซนร้อนโซเดล คาดว่าจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนวันที่ 25-26 ตุลาคม ทำให้ด้านตะวันออกและตอนล่างของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนบางแห่งกับมีลมแรง
สำหรับจังหวัดนครราชสีมา น้ำจากลำเชียงไกรเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำผิวถนน และพื้นที่เกษตร 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง พิมาย โชคชัย และปักธงชัย โดยระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำบ้านโนนสะอาด อ.โชคชัย สูงกว่าตลิ่ง 60 ซม. แนวโน้มเพิ่มขึ้น กรมชลประทานเร่งระบายน้ำออกจาก อ.เมืองไปลงแม่น้ำมูล ที่อุบลราชธานี น้ำลำน้ำมูลเริ่มเอ่อเข้าท่วมพื้นที่เขตเทศบาลเมืองอุบลราชธานี ระดับน้ำสูง 60 – 70 ซม. สำนักงานชลประทานที่ 7 นำกระสอบทราย 500 ใบวางแนวกั้นน้ำและติดตั้งเครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำ
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2020/10/72659-1024x682.jpg)
ด้าน จ.ปราจีนบุรี ระดับน้ำ อ.กบินทร์บุรี สูงกว่าตลิ่ง 77 ซม. แนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนสระแก้ว ที่สถานีวัดน้ำบ้านแก้ง อ.เมือง ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 73 ซม. แนวโน้มเพิ่มขึ้นกำลังเร่งระบายน้ำออก สำหรับพื้นที่อื่น ระดับน้ำในลำน้ำต่างทรงตัวและลดลง หากไม่มีฝนตกมาเพิ่มจะเข้าสู่ภาวะปกติใน 2-3 วัน
รายงานผลกระทบด้านการเกษตร ด้านพืชมี 17 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ สระแก้ว ปราจีนบุรี ชลบุรี จันทบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา นครปฐม สตูล สุราษฎร์ธานี และจังหวัดตรัง พื้นที่ 620,241 ไร่ เกษตรกร 96,949 ราย แบ่งเป็น ข้าว 266,903 ไร่ พืชไร่ 297,201 ไร่ พืชสวนและอื่น ๆ 56,137 ไร่ ด้านประมง 7 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท ราชบุรี กาญจนบุรี สระบุรี เพชรบุรี กระบี่ และตรัง เกษตรกร 380 ราย พื้นที่ (บ่อปลา) 356 ไร่ กระชัง 2,215 ตรม. ด้านปศุสัตว์ ได้รับผลกระทบ 5 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา นครสวรรค์ กาญจนบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เกษตรกร 1,096 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 80,663 ตัว แบ่งเป็น โค – กระบือ 12,444 ตัว สุกร 3,892 ตัว แพะ – แกะ 941 ตัว สัตว์ปีก 63,386 ตัว แปลงหญ้า 60 ไร่
นายทองเปลว กล่าวเพิ่มเติมว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ห่วงใยเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ย้ำให้หน่วยงานรับขึ้นทะเบียนเกษตรกรระดับภูมิภาคประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรมาปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรให้เป็นปัจจุบัน เพื่อรับความช่วยเหลือกรณีได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติตามระเบียบราชการ ส่วนการช่วยเหลืออื่น ๆ เช่น การมอบพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ หรือปัจจัยการผลิตอื่น ๆ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจความเสียหายทันทีหลังน้ำลด เพื่อทางกระทรวงจะนำมาประกอบการพิจารณาช่วยเหลือตามความเหมาะสมให้เร็วที่สุด.-สำนักข่าวไทย