รัฐสภา 22 ก.ค.- กมธ.กฎหมายฯ รุมซักสื่อปมนำเสนอข่าวน้องชมพู่ มอบ กสทช.สอบย้อนหลัง 2 เดือน ทุกช่องปมละเมิดสิทธิเด็ก-ประชาชน ชี้นำคดี
การประชุมคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมเชิญสถานีโทรทัศน์ 2 ช่องได้แก่ อมรินทร์ทีวี และ ไทยรัฐทีวี เข้าชี้แจงถึงการนำเสนอข่าวคดีน้องชมพู่ เสียชีวิตปริศนา ที่จ.มุกดาหาร พร้อม เชิญ กสทช. มาร่วมให้ความเห็นด้วย ซึ่งในวันนี้ไทยรัฐทีวีได้ขอเลื่อนการชี้แจง มีเพียงอมรินทร์ทีวีช่องเดียว โดยนายสิระ เจนจาคะ ประธานกรรมาธิการฯ กล่าวว่าเหตุผลที่ต้องเชิญสื่อมาชี้แจง เนื่องจากมีประชาชนในพื้นที่เกิดเหตุ ร้องเรียนต่อกรรมาธิการว่าได้รับผลกระทบและถูกละเมิดจากการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ที่เปรียบประชาชนเหมือนสินค้าที่ถูกสื่อนำไปขาย
จึงตั้งข้อสังเกตว่าการทำข่าวของสื่อ 2 ช่องเกินขอบเขตของหน้าที่สื่อหรือละเมิดจรรยาบรรณสื่อ หรือไม่ เป็นการซ้ำเติมน้องชมพู่หรือหาผลประโยชน์ จากคดีนี้หรือไม่ โดยเฉพาะช่องอมรินทร์ทีวี มีการนำเสนอข่าวนี้อยู่ตลอดเวลามีการสัมภาษณ์บุคคลให้กระทบต่อบุคคลที่สอง บุคคลที่สาม เพื่อเรียกเรตติ้งทางธุรกิจ มีการนำเสนอข้อมูลจากบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีที่เป็นการชี้นำหรือไม่ มีการเสนอข่าวในลักษณะของละครทำให้พยานยุ่งเหยิง มีการสัมภาษณ์เด็ก ร่างทรง พระ เปรียบเสมือนเป็นพนักงานสืบสวนเอง เป็นอัยการเอง และผู้พิพากษาเอง
ด้านนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ กรรมาธิการตั้งคำถามถึง กสทช.ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลสื่อมวลชน ว่า ได้มีการติดตามการนำเสนอข่าวคดีน้องชมพู่ของอมรินทร์ทีวีหรือไม่ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายของ กสทช.หรือไม่
นายสมบัติ ลีลาพตะ นิติกรเชี่ยวชาญพิเศษ ของ กสทช. กล่าวว่า เรื่องนี้ กสทช. มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลเนื้อหาการออกอากาศ ช่องอมรินทร์ทีวี ที่การดำเนินกิจการต้องอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ที่ห้ามออกอากาศในเรื่องที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อย ต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจ ซึ่งการนำเสนอข่างคดีน้องชมพู่ กสทช. ไม่ได้นิ่งเฉยมีการตรวจสอบการนำเสนอข่าวของทุกช่อง และมีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมาดูแลเนื้อหาการออกอากาศและได้รับเรื่องนี้มาพิจารณาแล้วโดยจะมีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อเท็จจริงในวันที่ 30 ก.ค. นี้ ทั้งกรณีไปสัมภาษณ์พี่สาวของเด็กที่เสียชีวิต และบุคคลที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่
ทั้งนี้กรรมาธิการได้ซักถามทางอมรินทร์ทีวี ว่าได้คัดกรองตรวจสอบเนื้อหาการออกอากาศการให้สัมภาษณ์ที่เป็นข้อมูลเท็จหรือไม่
นายนภจรส ใจเกษม บรรณาธิการบริหารอมรินทร์ทีวี กล่าวว่า อมรินทร์ทีวี มีการตรวจสอบข่าวก่อนออกอากาศแต่จากคดีที่เกิดขึ้นมีความจริงหลายด้านอยู่ที่ว่าจะเป็นความจริงจากใคร ทั้งความจริงจากลุงพล จากพ่อแม่น้องชมพู่ หรือความจริงจากชาวบ้าน แต่ความจริงของใครคือความจริงแท้ อมรินทร์ทีวีจึงเลือกนำเสนอความจริงทุกด้าน เปิดพื้นที่ให้ทั้งฝั่ง พ่อแม่ น้องชมพู่ และฝั่งลุงพล ได้ชี้แจงอย่างรอบด้าน ยืนยันว่าสื่อเองไม่มีสิทธิไปตัดสินว่าความจริงของใครคือข้อเท็จจริง เพราะสุดท้ายการตัดสินจะอยู่ที่คำพิพากษาของศาล
จากนั้น ประธานกรรมาธิการฯ ซักถามต่อว่าการออกอากาศใครจะพูดอะไรให้เกิดผลกระทบอย่างไรก็ได้ใช่หรือไม่ เพราะแม่ของน้องชมพู่พูดเองเมื่อวานนี้ว่าถูกละเมิด ถูกทำให้เหมือนสินค้า มีการไปสัมภาษณ์พี่สาวน้องชมพู่ในโรงเรียนแล้วอ้างว่า ผอ.โรงเรียนอนุญาต ทั้งที่ควรขออนุญาตผู้ปกครองก่อน
ด้านนายกิตติเดช กิจมโนมัย ที่ปรึกษากรรมาธิการ ตั้งคำถามว่ากรอบของคำว่าข้อเท็จจริงหรืออะไร เพราะสิ่งที่ อมรินทร์ทีวี นำเสนอหลาย ๆ ครั้งที่อมรินทร์ทีวีคิดว่าเป็นข้อเท็จจริง แต่คนก็จะรู้ว่านั้นเป็นความเชื่อ เหมือนอย่างกรณีรายการช่องส่องผีที่มีการนำเสนอความเชื่อแต่ก็บอกว่าเป็นข้อเท็จจริง จึงต้องถามว่าข้อเท็จจริงนั้นพิสูจน์ได้อย่างไรหรือจริง ๆ เป็นเพียงความเชื่อเท่านั้น จึงขอให้อมรินทร์ทีวีควรรอบคอบมากกว่านี้ ในการนำเสนอ เพราะส่วนตัวรับไม่ได้กับคำว่าความเห็นของแต่ละคนเป็นข้อเท็จจริง ทั้งที่ความเห็นของแต่ละคนเป็นเพียงความเชื่อหากไปกระทบต่อบุคคลอื่น ๆ มันเกิดกว่าขอบเขตของหน้าที่ของสื่อ
ส่วนกรณีการนำเสนอภาพการตรวจดีเอ็นเอประชาชนของตำรวจ นั้น บรรณาธิการบริหารอมรินทร์ทีวี ชี้แจงว่าเป็นเพียงการนำเสนอกระบวนการทำงานของตำรวจเท่านั้นแต่ไม่ได้ไปก้าวล่วงหรือไปเจาะลึกว่าเป็นดีเอ็นเอของใครอย่างไร ส่วนการสัมภาษณ์บุคคลในพื้นที่ โดยเฉพาะแม่น้องชมพู่ ยืนยันว่าทุกครั้งที่สัมภาษณ์มีการขออนุญาตทุกครั้งหากไม่อนุญาตก็จะไม่สัมภาษณ์ แต่การไปสัมภาษณ์พี่สาวน้องชมพู่ที่โรงเรียนนั้น ยืนยันว่าอมรินทร์ทีวีไม่ใช่ช่องแรกที่สัมภาษณ์ ซึ่งหลังจากแม่น้องชมพู่ไม่สบายใจอมรินทร์ทีวี ก็ไม่นำเสนออีกเลย
นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมาธิการ กล่าวว่า การใช้เสรีภาพสื่อต้องอยู่บนความรับผิดชอบต่อสังคม ต้องเคารพสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคล ถึงแม้บุคคลจะมีการยินยอมให้สัมภาษณ์ แต่การสัมภาษณ์อาจทำให้กระทบสิทธิความเป็นส่วนตัวหรือกระทำให้เกิดความสะเทือนใจของสังคมได้ สื่อต้องมีความรอบคอบเรื่องนี้ โดยเฉพาะการสัมภาษณ์พี่สาวน้องชมพู่ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็กโดยตรงเพราะโดยปกติการจะสัมภาษณ์เด็กเดี่ยวกับคดีต้องมีสหวิชาชีพร่วมในการดำเนินการด้วย
จากนั้นที่ประชุมมีมติให้ กสทช. ตรวจสอบการทำข่าวของสื่อ 2 ช่อง และช่องอื่นๆ ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาว่าเข้าข่ายละเมิดสิทธิ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเป็นการมอมเมาประชาชนหรือไม่ และรายงานต่อกรรมาธิการ รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางมาตรการด้านจริยธรรมสื่อมวลชนให้ชัดเจน .-สำนักข่าวไทย