สสส.1 มิ.ย.- เนื่องในวันดื่มนมโลก 1 มิ.ย.แพทย์แนะการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ดีที่สุด สร้างภูมิคุ้มกัน ลดหวัด ปอดบวม ท้องเสีย ได้มากกว่า 5 เท่า ยันติดโควิด-19 ก็ให้นมได้
นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส.กล่าวว่า วันที่ 1 มิถุนายนของทุกปี องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กำหนดให้เป็นวันดื่มนมโลก (World Milk Day)นมมีความสำคัญต่อโภชนาการของคนตลอดทุกช่วงชีวิต โดยเฉพาะวัยเด็ก มีความสำคัญเป็นอย่างมากในกระบวนการเจริญเติบโต สสส.ในฐานะหน่วยงานที่ผลักดันรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับคนไทยในเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ สำหรับเด็กวัยแรกเกิดควรได้ดื่มนมแม่อย่างเดียวใน 6 เดือนแรก เพราะนมแม่ คือวัคซีนหยดแรกที่จะช่วยปกป้องและเสริมภูมิคุ้มกัน และเสริมแคลเซียมให้เพียงพอในแต่ละวันด้วยการบริโภคนมวัวต่อได้จนถึงวัยสูงอายุ
“ไทยมีเด็กแรกเกิด 700,000 คนต่อปี แต่เด็กที่ได้ดูดนมแม่ในชั่วโมงแรก ไม่ถึงร้อยละ 50 การให้นมแม่อย่างเดียวต่อเนื่องได้ในระยะ 6 เดือนแรก จะช่วยทำให้ลูกไม่ป่วยบ่อย ไม่ต้องเสียเวลาไปโรงพยาบาล สารอาหารที่เพียบพร้อมและเหมาะสม ส่งผลต่อการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์ของอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย และหลัง อายุ 6 เดือนให้ได้นมแม่คู่กับอาหารตามวัยที่เหมาะสม จะส่งผลให้ทารกมีสุขภาพและพัฒนาการที่ดี โดยเฉพาะพัฒนาการทางสมอง ในภาพรวมมีโอกาส IQ ดีกว่าทารกที่กินนมผสม 2-11จุด ลดโอกาสการเกิดโรค NCDs ถึงร้อยละ 7-17 มีอัตราการเสียชีวิตจากโรคกลุ่มปอดบวม ทางเดินอาหารอักเสบ น้อยกว่า 5-10 เท่า ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของครอบครัว นอกจากนั้นแม่ที่ให้นมลูกจะมีสุขภาพดี ไม่อ้วน ลดโอกาสเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่”นพ.ไพโรจน์ กล่าว
ศ.คลินิก พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร รองประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า นมแม่มีความสำคัญและมีประโยชน์มากกับทารก ใน 1ชั่วโมงแรกส่วนใหญ่น้ำนมแม่จะยังไม่มาแต่หากลูกได้ดูดนมจากเต้าจะสำคัญมากในการช่วยกระตุ้นขบวนการสร้างน้ำนม ที่พร้อมทั้งภูมิ คุ้มกันและคุณภาพด้านโภชนาการ เปรียบเป็นอาหารพร้อมยา ช่วยปกป้องการเจ็บป่วยที่พบบ่อยทั้งในวัยทารก วัยเตาะแตะ เด็กโต จนถึงวัยผู้ใหญ่ สถานการณ์โควิด-19 องค์การอนามัยโลกได้แนะนำกรณีแม่ติดเชื้อ หรือสงสัย ควรจัดให้มีการปรึกษาร่วมกันระหว่างแม่และครอบครัว แพทย์ เพื่อให้แม่ได้ข้อมูลที่มีหลักฐานทางวิชาการ ชั่งประโยชน์นมแม่และความเสี่ยงจากการติดเชื้อในลูก ถ้าแม่เลือกอยู่ด้วยกันได้ สามารถให้ลูกได้ดูดนมแม่เพื่อกระตุ้นการสร้างน้ำนมตั้งแต่ใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อจากละอองน้ำมูกหรือการไอจามอย่างเคร่งครัด
“ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับโควิด-19 แม่ลูกอ่อนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ระบาดรับบริจาคนมผงมาใช้เลี้ยงลูกน้อย ควรหลีกเลี่ยงเพราะเมื่อนมบริจาคหมดลง แม่ที่มีรายได้น้อยอาจไม่สามารถจัดหานมผงมาเลี้ยงลูกได้ต่อไป ถึงตอนนั้นร่างกายก็จะไม่ผลิตน้ำนมแล้ว หรือหากจำเป็นให้รับบริจาคสิ่งของเครื่องใช้อื่นๆสำหรับเด็กเล็ก อาหารที่มีประโยชน์เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตแทน แม่ลูกอ่อนที่มีปัญหาน้ำนมน้อยสามารถปรึกษาคลินิกนมแม่ใกล้บ้าน โรงพยาบาล หรือมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เพื่อสร้างความเข้าใจแนวทางการให้นมลูก เทคนิควิธีเพิ่มน้ำนม ในโอกาสวันดื่มนมโลก ดีใจแทนทารกน้อยในประเทศไทยทุกคนที่สังคมร่วมให้ความสำคัญเรื่องนมแม่” ศ.คลินิก พญ.ศิราภรณ์ กล่าว .-สำนักข่าวไทย