กรุงเทพฯ18 พ.ค..-กสศ.แถลงครบ 2 ปี ช่วยเด็กมากกว่า 1.1 ล้านคน พร้อมเปิดตัวโครงการ “สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือ เพื่อมื้อน้อง” ชวนทุกภาคส่วนร่วมเติมเต็มมื้ออาหารให้กับเด็กๆในช่วงสถานการณ์โควิด-19
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา กสศ. ได้เริ่มช่วยเหลือ สนับสนุน และส่งเสริมพัฒนากลุ่มเป้าหมายเด็กเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษา รวมถึงครู ผู้พิการ และประชาชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสจำนวนรวมมากกว่า 1,147,754 คน ใน 27,731 โรงเรียนครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วไทย และขอขอบคุณหน่วยงาน ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ /สาธารณสุข กระทรวง พม./ มหาดไทย/ สำนักงบประมาณ และการสนับสนุนจากครูสังกัด สพฐ. ตชด. และ อปท. กว่า 400,000 คน ทั่วประเทศ ที่ช่วยให้ กสศ. เข้าถึง และได้มีโอกาสช่วยเหลือ กลุ่มเป้าหมายที่ยากจนและด้อยโอกาสที่สุดในประเทศ
และระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ iSEE ก็ได้ช่วยติดตามทำงานสนับสนุนนักเรียนทุกคนได้เป็นรายบุคคล ตั้งแต่เริ่มรับการสนับสนุนจาก กสศ. ไปจนสำเร็จการศึกษา ซึ่งการใช้ระบบนี้เป็นฐานข้อมูลติดตามให้ความช่วยเหลือ ยังได้รับการชื่นชมจาก ยูเนสโกอีกด้วย
“สถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบไปทุกภาคส่วน ล่าสุด เด็กๆ กำลังขาดแคลนอาหารจากการปิดเทอมที่ยาวนานออกไปถึง 46 วัน และถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ ครม. มีมติคืนงบประมาณให้ กสศ. 200 ล้านบาท รวมกับงบฉุกเฉินเดิม 300 ล้านบาท เป็น 500 ล้านบาท เพื่อจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนค่าอาหารเพิ่มเติมให้กับนักเรียนยากจนพิเศษใน 3 สังกัด (สพฐ. ตชด. และ อปท) ที่ กสศ.ดูแล ตั้งแต่ชั้นประถม 1 – ม. 3 และระดับอนุบาล 10 จังหวัด จำนวน 753,997 คน โดยช่วยเหลือเด็กคนละ 600 บาท เป็นค่าอาหาร 30 วัน ปัจจุบันได้ทยอยโอนเงินมากกว่า 300 ล้านบาท ให้นักเรียน ป.1-ป.5 ไปทั้งสิ้น 25,408 โรงเรียนแล้ว คาดว่าจะโอนส่วนที่เหลือได้ครบ 500 ล้านบาทภายในสัปดาห์นี้ “ ดร.ประสาร กล่าว
นอกจากนั้น กสศ. ยังได้ริเริ่มโครงการรณรงค์ “สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือ เพื่อมื้อน้อง” โดยเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมสมทบเติมเต็มมื้ออาหารอีก 15 วันที่ยังขาดแคลนให้กับเด็กๆกลุ่มนี้ เพื่อก้าวผ่านวิกฤตและมีโอกาสกลับมาเรียนอีกครั้งเมื่อเปิดเทอมใหม่มาถึง โดยเงินบริจาคจะถูกนำไปจัดสรรให้แก่กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนที่สุดก่อน เช่น เด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการ หรือเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ด้วยการประมวลผลจากระบบ iSEE เครื่องมือของกสศ.ที่สามารถชี้เป้าหมายได้อย่างแม่นยำ
นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง สพฐ.และกสศ. ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นนวัตกรรมของการให้โอกาสทางการศึกษาที่ไม่ได้มุ่งเน้นการสงเคราะห์ด้วยเงิน แต่คือการร่วมกันปฏิรูปวิธีการจัดสรรทรัพยากรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ให้เด็กๆมาโรงเรียนไม่หลุดออกนอกระบบ ทำงานบนฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ไม่ใช่แค่ตัวเลขแต่คือชีวิตของนักเรียนยากจนหลายล้านคน ทำให้เราสามารถติดตามและมองเห็นปัญหา และสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของเด็กๆได้ทันท่วงที เช่นผลกระทบจากการเลื่อนเปิดเทอม ที่คุณครูและโรงเรียน คอยติดตามความเป็นอยู่นักเรียนอย่างใกล้ชิด ขณะนี้ครูกว่า 4 แสนคน กำลังลงพื้นที่สำรวจความต้องการของนักเรียนเพื่อช่วยเหลือแจกอาหารตามสภาพปัญหาของเด็กๆ จากเงินอุดหนุนเพิ่มเติมที่ทางสพฐ.ร่วมมือกับกสศ.ขอให้เชื่อมั่นในระบบการจัดการของโรงเรียนที่จะส่งต่อไปถึงมือเด็กทุกคน
อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ ที่ปรึกษาโครงการ “สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือ เพื่อมื้อน้อง” กล่าวว่า เด็กวัยเรียนเป็นวัยที่กำลังเจริญเติบโต ทั้งร่างกาย สติปัญญา สมอง เราต้องให้เด็กได้รับสารอาหารครบ 5 หมู่ หากขาดตัวใดตัวหนึ่งหรือกินไม่พอ ก็อาจมีอาการสมองฝ่อ ร่างกาย แคระแกร็น มีผลการเรียนและการพัฒนาสติปัญญา กสศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงร่วมมือบรรเทาความเดือดร้อนของเด็กยากจนพิเศษ ด้วยการโอนเงินไปให้โรงเรียนซื้อข้าวสาร อาหารแห้งที่เป็นประโยชน์เป็นถุงยังชีพแจกเด็ก เพื่อลดความหิวโหย ลดการขาดสารอาหารในช่วงนี้ไปจนถึงเปิดเทอมวันที่ 1 ก.ค.
ครูอรุณศรี หลงชู โรงเรียนบ้านยะบะ (อุปการวิทยา) จ.นราธิวาส กล่าวว่า การเลื่อนเปิดเทอมออกไป ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของนักเรียนที่ฐานะยากจนหลายครอบครัวไม่มีเงินซื้ออาหาร เด็กบางคนจึงได้กินอาหารน้อยลงหรือต้องอดบางมื้อ ทางโรงเรียนได้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการนำงบของโรงเรียนไปจัดซื้อถุงยังชีพซึ่งประกอบไปด้วย ข้าวสารอาหารแห้ง ปลากระป๋อง เพื่อแจกเด็กทั้ง 580 คนของโรงเรียน .-สำนักข่าวไทย
![](https://imgs.mcot.net/images//2020/05/1589798931760.jpg)