กทม.13พ.ค.-รมว.ศึกษาฯลงพื้นที่ทดสอบระบบการเรียนการสอนออนไลน์ ก่อนเปิดเทอม 1ก.ค.นี้ พบนักเรียนร้อยละ 10ไม่สามารถเข้าถึงระบบได้ ต้องเปลี่ยนมาเรียนในโรงเรียนแทน พร้อมแถลงเปิดตัวทีวี 17 ช่องเรียนผ่านทางไกล ของ สพฐ.วันพรุ่งนี้
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.)เป็นประธานเปิดการเรียนการสอนออนไลน์ “โรงเรียนหยุดได้ แต่การเรียนรู้หยุดไม่ได้” ที่ รร.วชิรธรรมสาธิต กทม. โดยมีคณะครู นักเรียน ผู้ปกครอง ร่วมพิธีเปิดผ่านระบบออนไลน์ กว่า 1,000 คน เป็นการ Kick off online learning ซึ่งโรงเรียนวชิรธรรมสาธิตถือเป็นโรงเรียนแกนนำระดับมัธยมที่มีความพร้อมด้านไอที มีแหล่งเรียนรู้ดิจิทัลสำหรับผู้เรียนที่หลากหลายและทันสมัย
จากการสำรวจความพร้อมของนักเรียน พบว่า ร้อยละ77 มีความพร้อม ในการเรียนการสอนออนไลน์และร้อยละ23 ยังไม่พร้อม โรงเรียนจึงต้องวางแผนเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้อย่างเท่าเทียมกัน โดยตั้งครูที่ปรึกษากำกับ ติดตาม ให้คำปรึกษานักเรียนเป็ยรายบุคคลผ่านทางLine กลุ่ม จัดทำคู่มือการสอนออนไลน์ โดยที่จะไม่ทิ้งเด็กคนใดไว้ข้างหลัง และครูทุกคนผ่านการอบรมจัดการเรียนการสอนออนไลน์ ผ่านโปรแกรม Microsoft Team Zoom และ Google Meet โดยจัดทำเป็นระบบออนไลน์ และออฟไลน์ ให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ตลอดเวลา ซึ่งครูทุกคนมีความพร้อมจัดการเรียนการสอน ในวันที่ 1 กรกฎาคม นี้
นายณัฏฐพล กล่าวภายหลังลงพื้นที่ดูระบบการเรียนการสอนออนไลน์ พบว่า มีนักเรียนทั้งประเทศ จำนวนร้อยละ 10 ที่ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนการสอนออนไลน์ได้ เช่น ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีอุปกรณ์ในการเชื่อมสัญญาณโทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต แล็ปท็อป แท็บเล็ต เบื้องต้นจะประสานกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการจัดหาอุปกรณ์เรียนออนไลน์และอุปกรณ์เรียนผ่านออนแอร์ ให้เพิ่มเติม แต่แนวทางที่เป็นไปได้ คือให้กลุ่มนักเรียนที่ไม่มีอุปกรณ์ เช่น แทปเล็ต หรือโทรทัศน์ ให้โรงเรียนเปลี่ยนจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนแทน แต่ต้องไม่เกิน 20 คนต่อ1 ห้องเรียน เพื่อคงมาตราการเว้นระยะห่าง และมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด พร้อมชื่นชมครูทั่วประเทศที่ตื่นตัวเพื่อให้นักเรียนสามารถเข้าถึงการเรียนการสอนให้สมบูรณ์ที่สุด
ทั้งนี้ จากการประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะนี้ โรงเรียนในต่างจังหวัดที่สถานการณ์ดีขึ้น แนวทางแรกจะให้เปิดการเรียนการสอนที่โรงเรียน แต่อาจต้องจัดผลัดการสอนเพื่อมาตรการเว้นระยะห่าง ส่วนโรงเรียนใน กทม.อาจต้องประเมินอีกครั้ง
อย่างไรก็ตามวันพรุ่งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ กสทช.และมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม จะร่วมแถลงข่าว เปิดตัว ทีวี 17 ช่อง ในการจัดการเรียนการสอนทางไกลวันและวันที่ 18 พ.ค.จะทดสอบปล่อยสัญญาณช่องต่างๆผ่านโทรทัศน์ ทั้งนี้ มีค่าใช้จ่าย 5 ช่อง ของสพฐ.3 ช่อง และอาชีวะ1ช่อง กศน.1ช่อง ที่เหลือไม่มีค่าใช้จ่ายเป็นการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน .-สำนักข่าวไทย