กรุงเทพฯ 21 ก.พ. – นิคมอุตสาหกรรมสงขลาก่อสร้างคืบหน้าร้อยละ 35 คาดเปิดให้บริการได้เดือนตุลาคมนี้ หากใช้พื้นที่เต็ม ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนกว่า 13,800 ล้านบาท
นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยความคืบหน้าการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมสงขลา ภายใต้แนวคิดการเป็นศูนย์อุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อการส่งออกและการขนส่งสินค้าต่อเนื่องหลายรูปแบบ โครงการนี้ มีมูลค่าการลงทุน ประมาณ 2,890 ล้านบาท ล่าสุดการก่อสร้างคืบหน้าแล้วประมาณร้อยละ 35 โดยคาดว่า จะก่อสร้างเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2563 และสามารถเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ตามแผนที่วางไว้ กนอ. คาดว่า จะสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้รวมกว่า 13,000 ล้านบาท โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ต้องการให้เกิดการลงทุน ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมบริการ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานพาหนะ หรือเครื่องจักร อุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และสายเคเบิ้ล รวมถึงอุตสาหกรรมเบา
สำหรับการก่อสร้างนิคมแห่งนี้ แบ่งเป็น 2 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 การก่อสร้างบนพื้นที่ 629 ไร่ แบ่งเป็นเขตประกอบการทั่วไปและเขตพาณิชยกรรม 337 ไร่ ที่เหลือเป็นพื้นที่ระบบสาธารณูปโภคและพื้นที่สีเขียวและแนวกันชน 292 ไร่ ปัจจุบันมีนักลงทุนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก อาทิ นักลงทุนจากประเทศมาเลเซีย ประเทศสิงคโปร์ และกลุ่มนักลงทุนในไทย โดยล่าสุดมีการทำสัญญาจองเช่าที่ดินแล้ว 1 ราย พื้นที่ 15 ไร่ เพื่อประกอบธุรกิจคอมมิวนิตี้มอลล์ และสถานีบริการน้ำมัน สำหรับการก่อสร้างระยะที่ 2 พื้นที่ประมาณ 298 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งมอบที่ดินจากกรมธนารักษ์ คาดว่าจะส่งมอบที่ดินให้ กนอ.ได้ภายในเดือนเมษายน 2563
ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า เมื่อมีการลงทุนจัดตั้งนิคมฯแล้วจะก่อให้เกิดประโยบชน์ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของพื้นที่ และการรักษาสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ โดยในแง่ของด้านเศรษฐกิจ จะก่อให้เกิดการลงทุนใหม่ในพื้นที่ การจ้างงานของแรงงานในพื้นที่เพิ่มขึ้น การสร้างความต้องการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น และก่อให้เกิดกิจกรรมต่อเนื่องจากการลงทุน สำหรับ จังหวัดสงขลา มีจุดสิ้นสุดที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย ใกล้กับด่านศุลกากรสะเดา แห่งที่ 2 รวมระยะทาง 70.43 กิโลเมตร ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงระบบการคมนาคมขนส่งอย่างครบวงจรระหว่างอำเภอหาดใหญ่ และอำเภอสะเดา และเพิ่มประสิทธิภาพระบบการขนส่งสินค้าสำหรับการค้าชายแดนในภูมิภาคได้เป็นอย่างดี.-สำนักข่าวไทย