กรุงเทพฯ 8 ก.พ.-คาดสัปดาห์หน้า เงินบาท 31.00-31.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,525 และ 1,515 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,540 และ 1,550 จุด
บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงาน ว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงช่วงปลายสัปดาห์ โดยเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วงแรกตามการปรับทิศทางก่อนการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อย่างไรก็ดี เงินบาททยอยอ่อนค่าลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ หลัง กนง. มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาที่ร้อยละ 1 ขณะที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า แม้เงินบาทได้อ่อนค่าลงมาแล้วตั้งแต่ต้นปี แต่ยังไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่มีความอ่อนไหวอยู่มาก โดยเงินบาทยังคงมีทิศทางอ่อนค่าจนถึงช่วงปลายสัปดาห์ซึ่งสอดคล้องกับสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ (PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการ และตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน) ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด
ในวันศุกร์ (7 ก.พ.) เงินบาทอยู่ที่ 31.28 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 31.16 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (31 ม.ค.)
ด้านดัชนีตลาดหุ้นไทยกลับมาปิดปลายสัปดาห์ที่ 1,535.24 จุด เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.39 จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 61,841.92 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.44 จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.46 จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 303.95 จุด
ตลาดหุ้นไทยร่วงลงช่วงต้นสัปดาห์ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ก่อนจะดีดตัวขึ้นในเวลาต่อมา หลังจีนส่งสัญญาณกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์ดังกล่าว นอกจากนี้หุ้นไทยยังมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของ ครม. และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ของกนง. อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ มีช่วงบวกที่จำกัดลงช่วงปลายสัปดาห์ เนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนายังคงไม่คลี่คลาย และมีแรงกดดันในหุ้นกลุ่มสื่อสาร
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (11-14 ก.พ.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.00-31.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,525 และ 1,515 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,540 และ 1,550 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลประกอบการไตรมาส 4/62 ของบจ. ความคืบหน้าเกี่ยวกับการลงมติร่างพ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 และสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ยอดค้าปลีก และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนม.ค. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนม.ค.ของจีน ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนม.ค. ของญี่ปุ่น รวมถึงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/62 ของยูโรโซน -สำนักข่าวไทย