กรุงเทพฯ 10 ต.ค.- หลังจากเกิดเหตุการณ์ผู้พิพากษายิงตัวเองที่ จ.ยะลา ความเคลื่อนไหวจากภาคส่วนอื่นๆ ตามมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด มีมุมมองจากนักวิชาการที่ชี้ว่า การทำหน้าที่ของผู้พิพากษาสามารถที่จะถูกตรวจสอบได้ในประเด็นข้อกฎหมาย และเรียกร้องให้การทำงานของฝ่ายตุลาการใกล้ชิดกับประชาชนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะความอิสระในการตัดสินคดี
จากกรณีนายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นจังหวัดยะลา ยิงตัวเอง สร้างคำถามให้สังคมไม่น้อย โดยวงเสวนาวิชาการของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หยิบยกเรื่อง “ความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ” เป็นประเด็นถกเถียง ซึ่งทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าสิ่งสำคัญของศาล คือ ความเป็นกลาง เป็นธรรม เป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซง แต่สิ่งที่ดูเป็นปัญหาคือ ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ที่กำหนดให้อำนาจอธิบดีผู้พิพากษาภาคมีอำนาจในการตรวจร่างคำพิพากษาและทำความเห็นแย้งได้ในคดีสำคัญ แม้จะเพื่อรักษาคำพิพากษาให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน แต่นี่จะเป็นการแทรกแซงผู้พิพากษาผู้สืบพยานหรือไม่ และจะเกิดข้อกังขาในการตัดสินคดีได้ พร้อมเห็นว่ากรณีที่อธิบดีผู้พิพากษาจะตรวจร่างคำพิพากษา ควรจะให้คำแนะนำเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย
ส่วนความเป็นอิสระของศาลไทย มีการผสมหรืออยู่ภายใต้วัฒนธรรมอำนาจนิยมของสังคม คนภายนอกไม่สามารถรับรู้เรื่องราวได้ และมักใช้ความเป็นอิสระเป็นเกาะกำบังในการชี้แจงกับสาธารณะ ไม่รู้ข้อมูลว่ามีการลงโทษทางวินัยกันเองมากน้อยขนาดไหนในองค์กร แม้เคยมีผู้ขอข้อมูล แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ให้ เพราะกลัวกระทบความน่าเชื่อถือของวงการศาล จนไม่มีโอกาสรับหรือเเลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากสาธารณะ
เพราะสถาบันตุลาการต้องยึดโยงกับประชาชน หรือสาธารณะ ดังนั้น หากจะแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมต้องแก้ทั้งระบบ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและคงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือ.-สำนักข่าวไทย