กรุงเทพฯ 2 ก.ย. – สถาบันยานยนต์วางเป้าหมายปี 2030 ไทยผลิตรถยนต์เพิ่มเป็น 2.5 ล้านคัน พร้อมตั้งเป้ายอดผลิตรถยนต์ขายในประเทศ 1.5 ล้านคัน ในจำนวนนี้ร้อยละ 15 เป็นยอดผลิตรถยนต์ไฟฟ้าใช้แบตเตอรี่หรือ BEV ข้อเสนอแนะนโยบายรถยนต์นี้จะเสนอให้รัฐบาลพิจารณาผ่าน สศอ.ภายใน ก.ย.นี้
สถาบันยานยนต์สัมมนานำเสนอวิสัยทัศน์ประเทศไทยต่อยานยนต์อนาคต หรือ Thailand’s Vision on Future Mobility ปี ค.ศ.2030 เพื่อสร้างการรับรู้และเตรียมความพร้อมแก่ผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ที่โรงแรมสุโกศล
นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน ผู้ทำการแทนผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เปิดเผยว่า เดือนกันยายนนี้จะนำเสนอข้อเสนอแนะต่อนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์แห่งอนาคตต่อสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เพื่อเสนอนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาเพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมยายานต์ไทยไปสู่การผลิต ยานยนต์สมัยใหม่ หรือ Smart Mobility ซึ่งหมายถึงการเดินทางที่สามารถเชื่อมต่อการเดินทางในรูปแบบต่าง ๆ และเป็นการเดินทางสะดวกปลอดภัยพาหนะที่ใช้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งต้องมีราคาที่สมเหตุผลและทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงการเดินทางได้อย่างทั่วถึงทุกระดับต่อไป
สำหรับเป้าหมายปี ค.ศ. 2030 ประเทศไทยจากปัจจุบันผลิตรถยนต์ปีละกว่า 2 ล้านคันส่วนใหญ่เป็นรถใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงจะก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ที่สำคัญของภูมิภาค โดยจะมียอดผลิตรถยนต์รวมปีละ 2.5 ล้านคัน โดยเป็นการผลิตเพื่อขายในประเทศ 1.5 ล้านคัน ในจำนวนนี้ร้อยละ 15 เป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่หรือ BEV และร้อยละ 60 เป็นรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงหรืออื่น ๆ ที่มีความสามารถขับเคลื่อนอัตโนมัติในระดับ 3 ที่ขับอัตโนมัติในพื้นที่จำกัด เช่น บนทางด่วน ส่วนรถที่ใช้ในกิจการที่เป็นสาธารณะ เช่น รถโดยสาร รถสามล้อ รถจักรยานยนต์ ทั้งหมดจะเป็นรถ BEV ปัจจุบันประเทศไทยมีรถยนต์สะสมรวม 15 ล้านคัน กระทรวงพลังงานตั้งเป้าให้มีการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า ประเภทปลั๊กอินไฮบริดหรือ PHEV และประเภท BEV รวมกัน 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2036
นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า ปี ค.ศ.2030 มูลค่าของธุรกิจผลิตยานยนต์และบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยานยนต์สมัยใหม่ทั่วโลกจะมีมูลค่ารวมถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น ประเทศไทยควรพัฒนาตนเองเพื่อช่วงชิงรายได้มหาศาลดังกล่าวเข้าประเทศให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ เพื่อก้าวไปสู่การผลิตยานยนต์สมัยใหม่ สถาบันยานยนต์เสนอให้มีการดำเนินการ 19 มาตรการที่จำเป็น แบ่งเป็น 5 มาตรการเร่งด่วน และ 14 มาตรการต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ได้แก่ 1.การปฏิรูปโครงสร้างภาษีที่เกี่ยวข้องกับสินค้ายานยนต์ทั้งระบบให้สอดคล้องกันภายในแนวคิดสะอาดประหยัดปลอดภัย 2.กำหนดสิทธิประโยชน์แก่ผู้บริโภคทั้งที่เป็นตัวเงินและมิใช่ตัวเงินเพื่อสร้างตลาด 3.ปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการประจุไฟฟ้า 4.ยกระดับความสามารถการผลิตของผู้กอบการปัจจุบัน 5.การพัฒนาบุคลากรให้พร้อมสำหรับการผลิตยานยนต์สมัยใหม่รวมทั้งสร้างโอกาสทางธุรกิจเพิ่มเติมให้ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ได้และเตรียมบุคลากรที่ยังอยู่ในระบบการศึกษา เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย