ปัตตานี 5 ต.ค.-สำนักโฆษกฯ จัดกิจกรรมสื่อสัญจรติดตามความคืบหน้าโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ก่อนนายกฯ ลงพื้นที่ 7 ส.ค นี้ ขณะที่เลขาฯ ศอ.บต.มั่นใจเกิดการพัฒนา ทำให้คุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ดีขึ้น
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จัดกิจกรรมนำสื่อมวลชนลงพื้นที่ ระหว่างวันที่ 5-7 สิงหาคม 2562 จังหวัดสงขลา ปัตตานี และยะลา ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงพื้นที่ในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการสำคัญของรัฐบาลในการขับเคลื่อน และพัฒนาพื้นที่ด้านเศรษฐกิจตามโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559 โดยมี พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นำเยี่ยมชม
สำหรับโครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจเฉพาะ ด้วยการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชน ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงและพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้อย่างเต็มรูปแบบ
พล.ร.ต.สมเกียรติ กล่าวว่า โครงการสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน นำร่องในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ 1.อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร ทั้งทุเรียน มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน และผลิตภัณฑ์อาหารทะเล เน้นคนในพื้นที่เป็นหลัก 2.อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เป็นเมืองต้นแบบการค้าขายชายแดนระหว่างประเทศ เป็นเมืองชายแดนมีความรุ่งเรืองจากทางรถไฟ มีสะพานมิตรภาพ 2 แห่งและเขื่อมโยงสนามบินนราธิวาส และ 3.อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็นเมืองต้นแบบการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน มีความพิเศษอยู่กลางหุบเขาสันกะลาคีรี เป็นต้นน้ำปัตตานี อากาศเหมือนภาคเหนือ มีทะเลหมอกและดอกไม้เมืองหนาว มีความสวยงาม สะอาด และปลอดภัย มีการพัฒนาสนามบินก่อสร้างแล้วร้อยละ 90 เสร็จเดือนธันวาคมนี้
“เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดขึ้นมา 16 ปี โดยเริ่มมาจากปี 2546 จนถึงปัจจุบัน มีประชาชนและเจ้าหน้าที่เสียชีวิตแล้ว 5,070 คน บาดเจ็บ 10,500 คน และเมื่อมีการประกาศพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เพื่อดึงดูดนักลงทุน ซึ่งระยะเวลาปีครึ่งที่ผ่านมา มีผู้ลงทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากบีโอไอ 1,500 ล้านบาท และจะพยายามพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเคยเป็นพื้นที่บอบช้ำ ให้กลายมาเป็นพื้นที่สีม่วงเพิ่มการลงทุน และมุ่งการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน อีกทั้งจะพัฒนาเมืองโกลก จ.นาราธิวาส ให้กลับมาเป็นเมืองการค้าชายแดน” เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าว
โอกาสนี้ได้เยี่ยมชมโครงการที่สำเร็จนำร่อง คือ บริษัท ม่านกู่หว่าง ฟู้ด จำกัด อ.เทพา จ.สงขลา เป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างภาคเอกชนไทยและจีน ก่อสร้างโรงงานแปรรูปทุเรียนเงินลงทุน 700 ล้านบาท รับซื้อผลผลิตทุเรียนเพื่อแปรรูปแช่แข็งเพื่อส่งออกไปยังประเทศจีน โดยใช้แรงงานในพื้นที่ในกระบวนการผลิตในโรงงานประมาณ 1,200 คน ใช้เงินทุนหมุนเวียนประมาณ 2,000 ล้านบาท รับซื้อทุเรียน 1.2 หมื่นตันต่อปี และในปี 2563 ตั้งเป้าไว้ว่าจะรับซื้อทุเรียนเพิ่ม 2 หมื่นตัน ซึ่งเป็นจำนวน 1 ใน 3 ของผลผลิตทุเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
บริษัท หนองจิกพัฒนา จำกัด อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็นโรงงานแปรรูปมะพร้าวครบวงจร โดยในขณะนี้มีการสร้างอาคารหลังใหม่เพื่อรองรับผลผลิตจากมะพร้าวของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีกําลังผลิต 160,000 ลูก/วัน และจะขยายเป็น 240,000 ลูก/วัน ในปี 2563 ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรในพื้นที่ตามโครงการเมืองต้นแบบฯ คาดว่าจะช่วยให้เกิดการกระจายรายได้แก่เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวได้ไม่น้อยกว่าปีละ 500 ล้านบาท และวิสาหกิจชุมชน โอรังปันตัย จ.ปัตตานี พื้นที่ต้นแบบการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในการแปรรูปอาหารทะเล เป็นศูนย์กลางในการรับซื้ออาหารทะเลสดประเภทต่าง ๆ ที่จับโดยเครื่องมือประมงพื้นบ้านที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาตัดแต่งและแปรรูปอาหารทะเลปลอดสารเคมีสู่ผู้บริโภค สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับสมาชิกในชุมชนประมงพื้นบ้าน ยกระดับราคาของสัตว์น้ำ จ.ปัตตานี ให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น.-สำนักข่าวไทย