พะเยา 20 ก.ค. – “ธรรมนัส” กำชับกรมประมงส่งเสริมอาชีพชาวบ้านกว๊านพะเยา เพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ จัดระเบียบการทำประมงน้ำจืด เพิ่มพูนรายได้ให้สูงขึ้น
ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า เดินทางมายังกว๊านพะเยาร่วมกับนายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เพื่อหาแนวทางพัฒนาอาชีพประมงน้ำจืดแก่ชาวบ้าน นายอดิศรรายงานว่า กว๊านพะเยาเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในเขตภาคเหนือตอนบน อยู่ที่อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยามีพื้นที่ประมาณ 12,831 ไร่ เป็นแหล่งรับน้ำจากลำน้ำ 10 ลำน้ำ ได้แก่ ลำน้ำแม่ปืม แม่เหยี่ยน แม่ตุ้ม แม่ต๋ำ แม่ต๋อม แม่ตุ่น แม่นาเรือ แม่ใส แม่ต๊ำ และมีลำน้ำแม่อิงป็นลำน้ำสายหลัก จากการสำรวจพบสัตว์น้ำประมาณ 28-36 ชนิดพันธุ์ ได้แก่ กลุ่มปลาสร้อย ปลาตะเพียน และปลานิล มีชาวประมง 17 ชุมชน 344 ครอบครัว โดยการทำประมงส่วนใหญ่จะใช้เป็นเครื่องมือประมงพื้นบ้าน เช่น แห ข่าย ยอ เบ็ด ตุ้ม เป็นต้น รายได้จากการทำประมงโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณครัวเรือนละ 7,000 – 9,000 บาทต่อเดือน
ปัจจุบันกว๊านพะเยาได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงมากขึ้น ได้แก่ ปัญหาที่ดินทำกิน การบุกรุกพื้นที่ การขยายตัวของวัชพืช คุณภาพน้ำเสื่อมโทรม และที่สำคัญที่สุด คือ ภาวะภัยแล้งทำให้ชนิดและปริมาณของสัตว์น้ำลดลง ที่ผ่านมากรมประมงได้แก้ปัญหาโดยขุดลอกกำจัดตะกอนดินที่ทับถมใต้ท้องน้ำ สร้างฝายพับเพื่อยกระดับน้ำให้สูงขึ้น กำจัดวัชพืช เฝ้าระวังคุณภาพน้ำ และบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่กว๊านพะเยา
ร้อยเอกธรรมนัส ได้กำชับให้จัดระเบียบการทำประมงในกว๊านพะเยา เช่น การบังคับใช้กฎหมาย การจัดทำทะเบียนเรือ และทะเบียนเครื่องมือประมง กำหนดเครื่องมือการทำประมงที่เหมาะสม ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในทุกภาคส่วนทั้งหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ เพื่อร่วมกันพัฒนาและการบริหารจัดการทรัพยากรประมง โดยสร้างแหล่งอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ สร้างแหล่งสมดุลของระบบนิเวศประมง และการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำเพื่อพัฒนาให้กว๊านพะเยาเป็นแหล่งน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ สร้างรายได้ให้กับประชาชนโดยรอบ พร้อมกันนี้ได้ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ 150,000 ตัว ได้แก่ ปลาสร้อยขาว ปลาตะเพียนขาว ปลาเทพา เป็นต้น ลงสู่กว๊านพะเยา
ร้อยเอกธรรมนัส ได้เชิญสมาคมประมงแห่งประเทศไทย (สปท.) เข้าพบเพื่อรับทราบปัญหาและหารือถึงแนวทางแก้ไข ซึ่งนายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ได้ยื่นข้อเสนอที่สมาชิกและชาวประมง 22 จังหวัดชายทะเลต้องการให้รัฐบาลแก้ไข ได้แก่ ปัญหากฎหมายประมงที่รุนแรง แม้เป็นการกระทำความผิดโดยไม่มีเจตนา แต่ถูกดำเนินคดีและเสียเงินค่าปรับเป็นเงินหลักแสนถึงหลายล้าน อีกทั้งยังถูกยึดสัตว์น้ำที่ประมงอย่างถูกต้องทั้งหมดแต่ละครั้ง และอาจจะต้องถูกคำสั่งพักใบหรือเพิกถอนใบอนุญาตอีกด้วย กลุ่มเรืออวนรุนเดิมที่ถูกกฎหมาย ถูกศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหารการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) มีคำสั่งให้ยกเลิกใบอนุญาตภายในเวลา 2 สัปดาห์ ในช่วงปี 2558 จำนวน 342 ลำ โดยไม่มีมาตรการรองรับที่ดีพอ ทำให้หลายคนต้องหมดหนทางประกอบอาชีพและมีหนี้สินจำนวนมาก
กลุ่มเรือที่ถูกกฎหมายเจ้าท่าฉบับใหม่ที่ออกมาแล้วกำหนดให้ยกเลิกทะเบียนเรือประมงที่เลยกำหนดการต่อใบอนุญาต หรือไม่ได้ต่อใบอนุญาต โดยชาวประมงไม่ได้รู้กฎหมายฉบับใหม่ อีกทั้งไม่เข้าใจกฎหมาย เช่น เรือประมงที่งดใช้เรือประมง เพราะไม่ได้ออกไปทำการประมงก็ไม่ทราบว่าจะต้องต่อใบอนุญาตใช้เรือทุก ๆ ปี จึงไม่ได้ไปต่อใบอนุญาตใช้เรือแต่ละปี แต่กฎหมายใหม่กำหนดให้ต้องต่อใบอนุญาตทุกปี หากเลยกำหนดจะต้องถูกยกเลิกทะเบียนเรือประมงไป ทำให้เป็นเรือประมงไม่มีทะเบียนไม่สามารถออกทำการประมงได้ รวมทั้งไม่สามารถขายเรือได้อีกด้วยซึ่งเรือประมงนั้นเป็นทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ถือได้ว่า เป็นการยกเลิกทรัพย์สินของชาวประมงไปโดยไม่เป็นธรรม กลุ่มเรือประมงฝั่งอ่าวไทยที่ต้องการจะไปทำการประมงฝั่งอันดามันที่ยังไม่สามารถข้ามฝั่งได้ เช่นเดียวกับกลุ่มเรือประมงฝั่งอันดามันที่ต้องการจะข้ามกลับมาทำประมงฝั่งอ่าวไทยก็ไม่สามารถที่จะกลับมาทำประมงได้ กลุ่มผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปสัตว์นำที่มีใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายจะต้องถูกสั่งปิดโรงงานชั่วคราวและถาวรได้โดยง่ายตาม พ.ร.ก.การประมง มาตรา 11 และมาตรา 11/1 และกรณีที่มีใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายจะต้องถูกปรับสูงถึง 400,000-800,000 บาทต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน ตามกฎหมาย พ.ร.ก.การประมง มาตรา 124 ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นการออกกฎหมายที่ขัดกับหลักการความเสมอภาคในการประกอบอาชีพ ตามกฎหมายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
นายมงคล กล่าวเพิ่มเติมว่า ยังได้เสนอให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ทั้งหมดเกี่ยวกับการประมง เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนของกฎหมายแก้ไข พ.ร.ก.การประมงฯ ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่ไม่ขัดแย้งกับวิถีการประมงและความยั่งยืนของอาชีพและทรัพยากรประมง ยกร่างกฎหมายประมงฉบับใหม่ของชาวประมงที่สอดคล้องกับความเป็นจริง แก้ปัญหาราคาสินค้าสัตว์น้ำตกต่ำเนื่องมาจากสินค้าของประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาขายในราคาต่ำกว่า อีกทั้งต้องควบคุมให้สินค้าที่นำเข้ามาจะต้องมาจากประเทศที่ผ่านการแก้ไขปัญหา IUU แล้วและอยู่ในมาตรฐานเดียวกับประเทศไทยเพื่อตรวจสอบย้อนกลับได้ เป็นต้น ซึ่งร้อยเอกธรรมนัสได้รับเรื่องและระบุว่าหลังรัฐบาลแถลงนโยบายจะตั้งคณะกรรมการศึกษาผลกระทบจากกฎหมายประมงเพื่อแก้ไขอย่างจริงจัง.-สำนักข่าวไทย