กรุงเทพฯ 20 เม.ย.-หลักเกณฑ์นมโรงเรียน 2562 คลอดแล้ว เน้นให้สิทธิผู้ประกอบการรายย่อยผลิตวันละไม่เกิน 5 ตันก่อน ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่และรายใหม่ มีสูตรคำนวณที่เป็นธรรม เร่งเปิดรับสมัครและจัดสรรสิทธิให้ทันเปิดภาคเรียน
นายสัตวแพย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เลขานุการคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนกล่าวว่า นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะกรรมการฯ ได้ลงนามในประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการนมโรงเรียน ปีการศึกษา 2562 ซึ่งจะได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนทุกระดับกลุ่มพื้นที่ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดใน 5 กลุ่มจังหวัดที่การเลี้ยงโคนมมากเป็นประธานเร่งเปิดรับสมัครผู้ประกาศการจำหน่ายนมโรงเรียนระหว่างวันที่ 23 – 25 เมษายนนี้ จากนั้นจะสรรสิทธิให้เสร็จภายในวันที่ 29 เมษายน แล้วจัดสรรพื้นที่ภายในวันที่ 2 พฤษภาคมนี้
ทั้งนี้หลักเกณฑ์ คือการกำหนดปริมาณน้ำนมโคที่จะจัดสรรสิทธิการจำหน่ายให้คำนวณปริมาณจากจำนวนนักเรียนที่บริโภคนมโนโครงการให้เป็นไปตามจำนวนนักเรียนที่มีอยู่จริงในแต่ละกลุ่มพื้นที่ในรอบปีการศึกษาที่ผ่านมา โดยคำนวณจากจำนวนวัน 130 วัน/ภาคเรียน คนละ 1 ถุงหรือกล่องต่อวัน (200 มล.) ทั้งนี้ให้ปรับเพิ่มเพื่อชดเชยการสูญเสียจากกระบวนการแปรรูปประมาณร้อยละ 2 ของปริมาณน้ำนมโครวมที่ใช้ในการผลิตให้กับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมทุกราย
ส่วนการจัดสรรสิทธิ 1. ให้นำประวัติการฝ่าฝืนในภาคเรียนที่ 2/2561 นำมาประกอบการพิจารณจัดสรรสิทธิโดยสิทธิที่ได้รับต้องไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของสิทธิเดิมที่เคยได้รับในการจัดสรรในภาคเรียนที่ 2/2561 2.ให้ลำดับความสำคัญกับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่มีศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบซึ่งรับน้ำนมดิบจากสมาชิกของตนเอง หรือมีแผนการตลาดรองรับปริมาณน้ำนมดิบตลอด 365 วัน 3.นำข้อมูลปริมาณน้ำนมโค กรณีรับน้ำนมโคจากศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบให้แนบสัญญาซื้อขายระหว่างเกษตรกรกับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ และสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมกับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบและหรือหนังสือรับรองการใช้น้ำนมโค (แบบ นร.2) หรือ กรณีรับน้ำนมโคจากฟาร์มโคนมโดยตรงให้แนบสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมกับฟาร์มโคนม โดยฟาร์มโคนมต้องได้รับจีเอ็มพีจากกรมปศุสัตว์ เป็นต้น ส่วนกรณีผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่เคยเข้าโครงการภาคเรียนที่ 2/2561 ยื่นสิทธิมากกว่า 5 ตันจะมีสูตรคำนวณรับรอง เช่นเดียวกับผู้ประกอบการใหม่ที่ไม่เคยเข้าโครงการนมโรงเรียนในเทอม 2/2561
นายสัตวแพทย์สรวิศกล่าวเพิ่มเติมว่า ในการจัดสรรพื้นที่จำหน่ายนั้น ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ที่ได้รับสิทธิน้อยกว่า 5 หมื่นกล่อง-ถุง/วัน ให้จำหน่ายในพื้นที่ที่ตั้งในจังหวัดนั้นๆ หรือใกล้เคียงก่อน หากมีผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม ในพื้นที่มากกว่า 1 รายให้จัดสรรสิทธิการจำหน่ายในพื้นที่นั้นโดยเฉลี่ยในจังหวัดนั้นกับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่เป็นสหกรณ์ขนาดเล็กหรือโครงการพระราชดำริฯหรือสถาบันการศึกษาหรือผู้ประกอการผลิตภัณฑ์นมเอกชนรายเล็กในพื้นที่ก่อนหากสิทธิในพื้นที่จังหวัดนั้นไม่เพียงพอให้พิจารณาสิทธิ์ในพื้นที่ใกล้เคียงให้เพิ่มเติม หากมีสิทธิในพื้นที่คงเหลือให้เฉลี่ยปริมาณที่เหลือในพื้นที่ให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมรายอื่นที่ได้รับสิทธิมากกว่า 5 หมื่นกล่อง-ถุง/วัน ในกรณีทีมีการจัดสรรสิทธิพื้นที่การจำหน่ายในระดับพื้นที่ 5 กลุ่มให้คณะอนุกรมการบริหารกลางเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด
“น้ำนมโคโรงเรียนที่มีคุณภาพจะมีข้อกำหนดตามมาตรฐาน เช่น ต้องมีเซลล์โซมาติก แต่ไม่เกิน 5 แสนเซลล์/ลบ. ด้านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จะดำเนินการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ยังต้องประกันภัยนมโรงเรียน โดยให้ผู้ประกอบการนมโรงเรียนให้เลือกบริษัทประกันภัยนมโรงเรียนมา” นายสัตวแพทย์สรวิศกล่าว
สำหรับหลักเกณฑ์ดังกล่าว เป็นไปตาม มติ ครม.วันที่ 26 มีนาคม 2562 ในการทบทวนกลไกบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนและอนุมัติกรอบวงเงินในปี 2562 เดือนเมษายน – กันยายน ประมาณ 103,762,500 บาท และในปี 2563 ประมาณ 391,573,800 บาทเพื่อให้เด็กนักเรียนดื่มนมคุณภาพดี เกษตรกรจำหน่ายน้ำนมดิบได้ในราคาที่เหมาะสม และผู้ประกอบการได้รับการจัดสรรสิทธิอย่างเป็นธรรม โดยทั้งคณะกรรมการฯ และคณะอนุกรรมการทุกชุดไม่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ต่างจากแนวทางเดิมซึ่งมีทั้งผู้แทนเกษตรกร ผู้แทนกลุ่มผู้ประกอบการมาร่วมพิจารณาทำให้การบริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพ ส่วน องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) จะทำหน้าที่เป็นคู่สัญญาในการจำหน่ายนมโรงเรียนระหว่างผู้ประกอบการกับหน่วยงานที่รับผิดชอบงบประมาณจัดซื้อจัดจ้าง โดยเด็กนักเรียน 7.3 ล้านคนทั่วประเทศต้องได้ดื่มนมโรงเรียนพร้อมกันในวันที่ 16 พฤษภาคม 2562.- สำนักข่าวไทย