สหรัฐ 8 เม.ย. – ตั้งปลัดคลังสหรัฐคนสนิทผู้นำสหรัฐ เป็นประธานเวิลด์แบงก์คนใหม่ คาดปฏิรูปองค์กรครั้งใหญ่…ตามใบสั่งโดนัลด์ ทรัมป์
การเลือก “เดวิด มัลพาสส์” ปลัดกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ให้นั่งเก้าอี้ประธานธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ถือเป็นการเปิดโฉมหน้าว่าที่ผู้นำองค์กร การเงินระดับโลกคนใหม่ ซึ่งกำลังถูกจับตาว่าจะดำเนินนโยบายการเงินโลกเอื้อกับจุดยืนของทรัมป์หรือไม่
มัลพาสส์ซึ่งเข้ารับตำแหน่งประธานธนาคารโลกในวันที่ 9 เม.ย.นี้ (เวลาท้องถิ่น) เป็นเพียงบุคคลเดียวที่ถูกเสนอชื่อให้ ดำรงตำแหน่งนี้ซึ่งมีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี แต่การเสนอชื่อเขาโดยประธานาธิบดีทรัมป์ เมื่อช่วงต้นปีนี้ ได้โหมกระพือเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายเห็นต่าง ซึ่งมองว่า เป็นการสบประมาทองค์กรแห่งนี้ซึ่ง มีภารกิจอันสำคัญยิ่งในการต่อต้าน ความยากจนทั่วโลก
ธนาคารโลก แถลงเมื่อวันศุกร์ว่า “การเลือก มัลพาสส์ โดย คณะกรรมการบริหารของธนาคารโลก มีขึ้นตามหลังกระบวนการเสนอชื่อที่ เปิดกว้างและโปร่งใส ซึ่งพลเมืองของ แต่ละประเทศสมาชิกต่างมีสิทธิถูก เสนอชื่อ” การประกาศเลือกประธานธนาคารโลกคนใหม่ ซึ่งเป็นไปตามที่คาดหมาย มีขึ้น ก่อนสมัยการประชุมร่วมฤดูใบไม้ผลิของเวิลด์แบงก์กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ในสัปดาห์นี้
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ธนาคาร แห่งนี้ถูกก่อตั้งขึ้นหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 ประธานของเวิลด์แบงก์ทุกคนที่ผ่านมาล้วนเป็นชาวอเมริกัน ตามกฎระเบียบที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรหนึ่งซึ่งรับประกันเช่นกันว่าตัวแทนจากยุโรปจะได้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดในสถาบันพี่น้องกัน คือ ไอเอ็มเอฟ
เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังวัย 63 ปีรายนี้ ซึ่งรับหน้าที่ดูแลกิจการระหว่างประเทศ เคยวิพากษ์วิจารณ์เวิลด์แบงก์และไอเอ็มเอฟ อย่างดุเดือด โดยเขาบอกว่าทั้ง 2 องค์กรล้วนเป็นสถาบันการเงินระหว่างประเทศที่ “ทุจริต” และ “ไร้ประสิทธิภาพ” พร้อมยังวิจารณ์ที่เวิลด์แบงก์ที่เอื้อเฟื้อจีนมากเกินไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ มัลพาสส์ ได้แสดงท่าทีโอนอ่อนลง โดยบอกว่า เขาจะมุ่งมั่นในภารกิจของธนาคารโลก ในการขจัดความยากจนและจะพยายามปฏิรูปสถาบันนี้ตามแผนที่ได้รับการอนุมัติเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งใส่ใจต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานาของเขา ในนั้นรวมถึงการจำกัด การปล่อยกู้ และเพิ่มอัตราดอกเบี้ย แก่ประเทศที่มีรายได้สูงอย่างจีนด้วยสหรัฐควบคุมสิทธิโหวตส่วนใหญ่ในธนาคารโลก และตำแหน่งประธานเวิลด์แบงก์นี้ตามธรรมเนียมปฏิบัติแล้วจะมาจากประเทศที่ถือหุ้นใหญ่ที่สุด ซึ่งก็คือสหรัฐ ประธานของเวิลด์แบงก์ทุกคนที่ผ่านมาจึงล้วนเป็นชาวอเมริกัน
แต่ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เหล่าประเทศเกิดใหม่ส่งเสียงท้าทายข้อตกลงที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับตำแหน่งผู้นำเวิลด์แบงก์และไอเอ็มเอฟ โดยเรียกร้องให้เปิดกว้างมากขึ้นและมีกระบวนการ คัดเลือกบนพื้นฐานของความเหมาะสม ธนาคารโลกรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้นและตอนนี้ยอมให้กระบวนการสรรหาเปิดกว้างมากขึ้น แต่หลายปีที่ผ่านมา เหล่าผู้สมัครที่ไม่ใช่ชาวอเมริกันต่างได้รับเสียงสนับสนุนเพียงเล็กน้อยจากบรรดาหุ้นส่วนใหญ่ของธนาคารแห่งนี้
กระบวนการสรรหาประธานธนาคารโลกคนใหม่ มีขึ้นหลังจากที่ จิม ยอง คิม ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานธนาคารโลกเมื่อต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. แม้ว่าเขา ยังเหลือระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่มากกว่า 3 ปี ก่อนครบวาระในปี 2565 หลังจากที่เขาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานธนาคารโลกสมัยที่ 2 เมื่อปี 2559
ทั้งนี้ สหรัฐซึ่งมีสิทธิออกเสียงมากที่สุดในธนาคารโลกนั้น มีส่วนในกระบวนการเลือกสรรประธานธนาคารโลกนับตั้งแต่ ที่องค์กรได้เริ่มดำเนินการในปี 2489
มนูชิน เสริมว่า มัลพาสส์เหมาะสม ตามอุดมคติที่จะเป็นผู้นำเวิลด์แบงก์ ขณะที่ อิวานกากล่าวว่า เธอเชื่อว่าเขาจะเป็นผู้นำที่ไม่ธรรมดา
รมว.มั่นคงมาตุภูมิสหรัฐ ลาออก เซ่นปัญหาผู้อพยพ
เคิร์สต์เจน นีลเซน (Kirstjen Nielsen) รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐ ลาออกจากตำแหน่งแล้วเมื่อวานนี้ (7 เม.ย.) หลังจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาแสดงความไม่พอใจที่มีผู้อพยพจากเม็กซิโกหลั่งไหลมายังพรมแดนสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น
เจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งเผยว่า ทรัมป์ เป็นผู้ขอให้ นีลเซน ลาออกเอง ซึ่งเธอก็ยินยอมโดยผู้นำสหรัฐฯ ประกาศผ่านทวิตเตอร์ว่า “รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ เคิร์สต์เจน นีลเซน กำลังจะลาออกจากตำแหน่ง และผมขอขอบคุณเธอที่ได้อุทิศตนรับใช้บ้านเมือง”
ทรัมป์ ระบุว่า เควิน แมคคาลีนัน (Kevin McAleenan) ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรและป้องกันชายแดนสหรัฐ จะขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่รักษาการรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ
นีลเซน วัย 46 ปี ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิมาตั้งแต่เดือน ธ.ค. ปี 2017 และมีข่าวลือตลอดช่วงปีที่แล้วว่าเธออาจจะลาออก กระทั่งล่าสุดเมื่อเจ้าหน้าที่ชายแดนสหรัฐฯ ออกมาเผยว่ามีผู้อพยพถูกสกัดที่ชายแดนเม็กซิโกมากถึง 100,000 คนในเดือน มี.ค. ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบทศวรรษ
การสกัดกั้นผู้อพยพผิดกฎหมายถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล ทรัมป์ ซึ่งได้ชูสโลแกน “สร้างกำแพง” เพื่อลดจำนวนผู้มาใหม่ที่ลักลอบเข้าสหรัฐฯ โดยปราศจากเอกสารที่ถูกต้อง ผู้อพยพที่เพิ่มจำนวนขึ้นในเดือนที่แล้วส่วนใหญ่เป็นประชากรจากอเมริกากลางที่ต้องการลี้ภัยในสหรัฐ
ทรัมป์ หงุดหงิดกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นถึงขั้นประกาศจะตัดความช่วยเหลือกัวเตมาลา ฮอนดูรัส และเอลซัลวาดอร์ ซ้ำยังขู่จะปิดพรมแดนที่ติดกับเม็กซิโกเสีย ทว่าต่อมาก็เปลี่ยนใจหันมาขู่รีดภาษีชิ้นส่วนรถยนต์นำเข้าจากเม็กซิโกแทน
ในจดหมายลาออกของเธอ นีลเซน เรียกร้องขอความร่วมมือจากสภาคองเกรสและศาล ซึ่งคัดค้านนโยบายกีดกันผู้อพยพจากชาติมุสลิมและมาตรการจับแยกเด็กๆ ผู้อพยพออกจากพ่อแม่ของ ทรัมป์ มาโดยตลอด
“ดิฉันหวังว่า รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิคนใหม่คงจะได้รับการสนับสนุนจากสภาคองเกรสและศาลในการแก้ไขกฎหมายซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการป้องกันชายแดนอเมริกา และมีส่วนสร้างความแตกแยกในชาติของเรา” เธอระบุในจดหมายลาออกที่ส่งถึงทรัมป์
การลาออกของ นีลเซน มีขึ้นเพียง 2 วัน หลังจากที่ ทรัมป์ ประกาศเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (5) ว่าจะเลิกเสนอชื่อ โรนัลด์ วิทิเอลโล (Ronald Vitiello) เป็นผู้อำนวยการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรแห่งสหรัฐ (ICE) เนื่องจากอยากได้คนที่ “แข็งกร้าว” กว่านี้
นีลเซน ถูกพวกเดโมแครตในคณะกรรมาธิการคองเกรสซักฟอกมาแล้วหลายครั้ง และยังต้องรับคำวิจารณ์จากผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของทรัมป์ เมื่อปีที่แล้วเธอยังถูกผู้ประท้วงปิดล้อมที่ภัตตาคารอาหารเม็กซิกันแห่งหนึ่งในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ด้วย
เธอกลายเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนล่าสุดที่ถอนตัวจากรัฐบาลทรัมป์ ทำให้เวลานี้เหลือคณะรัฐมนตรีที่เป็นผู้หญิงอยู่เพียง 4 คน นอกจากนี้ ทรัมป์ ก็ยังสรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมและประธานคณะเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวอย่างถาวรไม่ได้
เบนนี ทอมป์สัน ส.ส.เดโมแครตซึ่งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสภาผู้แทนราษฎร ชี้ว่าการทำงานของ นีลเซน ที่กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิถือว่าเป็น “หายนะตั้งแต่ต้น” แต่ก็ไม่เห็นด้วยที่เธอจะต้องกลายเป็นแพะรับบาปจาก “นโยบายที่แย่และทารุณโหดร้าย” ของทรัมป์
เมื่อปีที่แล้ว นีลเซน เผชิญแรงกดดันจากนักวิจารณ์ให้ถอนตัวออกมา หลังจาก ทรัมป์ เริ่มใช้นโยบาย “ความอดทนเป็นศูนย์” (Zero Tolerance) ซึ่งรวมถึงการจับเด็กผู้อพยพแยกออกจากพ่อแม่ โดยหวังข่มขู่ไม่ให้อีกหลายครอบครัวทิ้งบ้านมาแสวงหาชีวิตใหม่ในสหรัฐอเมริกา .- สำนักข่าวไทย