พิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 76 จังหวัด

กรุงเทพฯ 6 เม.ย.- ทุกจังหวัดทั่วประเทศไทยได้ประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 76 จังหวัด เพื่อทำน้ำอภิเษกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างพร้อมเพรียงกัน


พิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ กำหนดขึ้นในวันนี้ ตามฤกษ์ คือ เวลา 11.52 – 12.38 น. ณ แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 76 จังหวัด รวม 107 แหล่งน้ำ แบ่งเป็น

1) จังหวัดที่มีแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 1 แห่ง รวม 60 จังหวัด


2) จังหวัดที่มีแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 2 แห่ง รวม 7 จังหวัด

3) จังหวัดที่มีแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 3 แห่ง รวม 5 จังหวัด

4) จังหวัดที่มีแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 4 แห่ง รวม 3 จังหวัด


5) จังหวัดที่มีแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 6 แหล่ง รวม 1 จังหวัด

ยกเว้นกรุงเทพมหานคร จะมีการประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำในวันที่ 12 เมษายน 2562 ณ หอศาสตราคมในพระบรมมหาราชวัง รวมทั้งสิ้น 108 แห่ง

นอกจากนี้ มี “แหล่งน้ำสรงมุรธาภิเษก” จำนวน 9 แหล่งน้ำ ได้แก่ สระศักดิ์สิทธิ์ 4 สระ คือ สระแก้ว สระคา สระยมนา และสระเกษ ใน อ.เมืองสุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี และน้ำจากแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ 5 สาย เรียกว่า “เบญจสุทธคงคา” คือ

– แม่น้ำบางปะกง ตักที่บึงพระอาจารย์ อ.องครักษ์ จ.นครนายก

– แม่น้ำป่าสัก ตักที่บริเวณบ้านท่าราบ อ.เสาไห้ จ.สระบุรี

– แม่น้ำเจ้าพระยา ตักบริเวณปากคลองบางแก้ว อ.เมืองอ่างทอง จ.อ่างทอง

– แม่น้ำราชบุรี ตักบริเวณสามแยกคลองหน้าวัดดาวดึงษ์ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม 

– แม่น้ำเพชรบุรี ตักบริเวณท่าน้ำวัดท่าไชยศิริ อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี

โดยแต่ละจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัด ทำหน้าที่เป็นประธานในการตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ หากจังหวัดใดมีแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์มากกว่า 1 แหล่ง ก็มอบหมายรองผู้ว่าฯ ตามลำดับ

ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ใส่ขันสาครตามเวลาฤกษ์ โดยที่ตักน้ำทองเหลืองเป็นจำนวน 12 ครั้ง ได้ปริมาณร้อยละ 80 ของขันน้ำสาคร จากนั้นเจ้าหน้าที่ปิดฝาขันน้ำสาคร ห่อด้วยผ้าขาว ผูกริบบิ้นสีขาว จากนั้นขบวนรถจะเคลื่อนไปยังสถานที่ประกอบพิธีทำน้ำอภิเษกของจังหวัด

จากนั้นวันจันทร์ที่ 8 เม.ย. เป็นวันทำ “พิธีทำน้ำอภิเษก” พร้อมกันทั่วประเทศ เวลาฤกษ์ 17.10 – 22.00 น. โดยประธานสงฆ์ประกาศชุมนุมเทวดาในการพิธีทำน้ำอภิเษก และจุดเทียนชัย วันอังคารที่ 9 เม.ย. 2562 จัดพิธีตักน้ำอภิเษกจาก “ขันน้ำสาคร” ใส่คนโท และเวลา 10.00 น. ดับเทียนชัย 12.00 น. เวียนเทียนสมโภชน้ำอภิเษก

ในวันพุธที่ 10 เม.ย. 2562 ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้เชิญ “คนโทน้ำอภิเษก” ของจังหวัดเดินทางด้วยรถประจำตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ส่งมอบมาเก็บไว้ ณ ห้องดอกแก้ว ชั้น 2 อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่เวลา 06.00 – 18.00 น. 

ส่วนน้ำศักดิ์สิทธิ์ใน กทม. ทำพิธีตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ในวันที่ 12 เม.ย. 2562 ฤกษ์เวลา 14.09 น. ที่หอศาสตราคมในพระบรมมหาราชวัง และะบรรจุน้ำลงคนโท แล้วแห่เชิญมาเก็บรักษาไว้ที่กระทรวงมหาดไทยด้วยกัน

ในวันที่ 18 เม.ย. 62 เวลา 07.00 น. ริ้วขบวนแห่เชิญคนโทน้ำอภิเษก 86 ใบ เป็น “น้ำอภิเษก” ของ 76 จังหวัด และ กทม. รวม 77 คนโท และ “น้ำมุรธาภิเษก” จำนวน 9 คนโท จากกระทรวงมหาดไทยไปยังวัดสุทัศนเทพวรารามฯ ระยะทาง 740 เมตร และฤกษ์เวลา 17.19 – 21.30 น.จัดทำ “พิธีเสกน้ำอภิเษกรวม” ในวันที่ 19 เม.ย. 2562 เวลา 07.30 น. ริ้วขบวนแห่คนโทน้ำอภิเษก 86 ใบ จากวัดสุทัศนเทพวรารามฯ ไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระมหากษัตริย์ ขั้นตอนที่สำคัญยิ่ง คือ ขั้นตอนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสรงมุรธาภิเษก หรือการรดน้ำเหนือศีรษะ และทรงรับน้ำอภิเษกโดยพระราชครูพราหมณ์ในวันพระฤกษ์บรมราชาภิเษก เพื่อทรงเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ ซึ่งน้ำอภิเษกจะต้องผ่านการทำพิธีพลีกรรม ซึ่งจะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 6 เมษายนจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2562 ความสำคัญของพิธีพลีกรรม ก็คือ น้ำอภิเษก เป็นน้ำที่ได้พลีกรรมตักมาจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตามมณฑลต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร เพื่ออัญเชิญให้สมเด็จพระมหากษัตริย์ทรงแผ่พระราชอาณาจักรปกครองประชาชนในทิศทั้ง 8

ในกาลรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 ใช้น้ำอภิเษกจากแหล่งน้ำ 6 แห่ง ได้แก่ สระเกษ เมืองสระแก้ว สระคงคา, สระยมนา เมืองสุพรรณบุรี ใช้มาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา อีก 5 แห่งใช้น้ำในแม่น้ำสำคัญ 5 สาย  

ครั้นรัชกาลที่ 5 ใช้น้ำอภิเษกเช่นเดียวกับรัชกาลก่อนๆ ต่อมาในพิธีบรมราชาภิเษก หลังทรงลาผนวช ปี 2416 เพิ่มน้ำจากปัญจมหานทีในชมพูทวีป แม่น้ำคงคา, แม่น้ำยมนา, แม่น้ำมทิ, แม่น้ำอจิรวดี และ แม่น้ำสรภู  ซึ่งตามตำราพราหมณ์ไหลมาจากเขาไกรลาส ที่สถิตของพระอิศวร 

รัชกาลที่ 6 เพิ่มแหล่งน้ำอีก 7 แห่ง นอกจากนี้ นำน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปทำพิธีที่วัดสำคัญใน 10 มณฑล ต่อมาสมัย รัชกาลที่ 7 ตั้งพิธีทำน้ำอภิเษก เปลี่ยนจากวัดมหาธาตุ เมืองเพชรบูรณ์ เป็นพระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่ และเพิ่มบึงผลาญชัย เมืองร้อยเอ็ดอีกหนึ่งแห่ง

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เปลี่ยนสถานที่ทำพิธีเสกน้ำจากพระธาตุช่อแฮ เป็นพระธาตุแช่แห้ง เมืองน่าน รวม 18 แห่ง และน้ำอภิเษกยังคงใช้ในพระราชพิธีมากจนกระทั่งถึงปัจจุบัน.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

นร.หญิง ม.1 จมทะเลดับ หลังโรงเรียนพาไปทัศนศึกษาที่ระยอง

โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งใน จ.นครราชสีมา พานักเรียนไปทัศนศึกษาที่ จ.ระยอง นักเรียนหญิง ม.1 ถูกคลื่นดูดลงทะเลขณะเล่นน้ำ เสียชีวิต พ่อแม่สุดเศร้าสูญเสียลูกสาวคนเดียวของครอบครัว

น้ำท่วมเชียงใหม่

เชียงใหม่จมบาดาล น้ำท่วมครั้งประวัติศาสตร์

น้ำท่วมในตัวเมืองเชียงใหม่ ยังวิกฤติ หลังน้ำในลำน้ำปิงขึ้นสูงสุดทรงตัวสูงกว่า 5.30 เมตร ซึ่งสูงที่สุดตั้งแต่มีการวัดระดับน้ำปิง

น้ำท่วมขนส่งเชียงใหม่กระทบผู้โดยสาร เปิดจุดจอดรับ-ส่งชั่วคราว

น้ำขยายวงกว้างเข้าท่วมสถานีขนส่งเชียงใหม่แห่งที่ 2 และ 3 เต็มพื้นที่ ระดับน้ำสูงเกือบ 50 ซม. ผู้ประกอบการขนส่งต้องนำรถทัวร์โดยสารออกมาจอดรับ-ส่งบนถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ยืนยันผู้ประกอบการยังให้บริการตามปกติ

ระทึก! แท็กซี่พลิกคว่ำเกิดเพลิงไหม้ 5 ชีวิตรอดหวุดหวิด

รถแท็กซี่พลิกคว่ำและเกิดเพลิงลุกไหม้กลางถนนพระราม 9 ผู้โดยสารหญิงสติดีถีบประตูช่วยตัวเองและคนอื่นออกมาจากตัวรถรวม 5 ชีวิตได้ทัน แต่ในจำนวนนี้บาดเจ็บสาหัส 1 คน เป็นคนขับแท็กซี่ ตำรวจเร่งสอบสวนหาสาเหตุ

ข่าวแนะนำ

น้ำท่วมเชียงใหม่

เชียงใหม่จมบาดาล น้ำท่วมครั้งประวัติศาสตร์

น้ำท่วมในตัวเมืองเชียงใหม่ ยังวิกฤติ หลังน้ำในลำน้ำปิงขึ้นสูงสุดทรงตัวสูงกว่า 5.30 เมตร ซึ่งสูงที่สุดตั้งแต่มีการวัดระดับน้ำปิง

น้ำท่วมเชียงใหม่

นายกฯ ห่วงน้ำท่วมเชียงใหม่ สั่งเร่งช่วยเหลือ เฝ้าระวัง 24 ชม.

“นายกฯ แพทองธาร” ห่วงน้ำท่วมเชียงใหม่ สั่งเร่งช่วยเหลือประชาชนและสัตว์โดยด่วน เฝ้าระวังสถานการณ์ 24 ชม. พร้อมฟื้นฟู

หญ้าอาหาร​สัตว์​พระราชทาน

ระดม​ขน​ส่ง​ “หญ้าอาหาร​สัตว์​พระราชทาน” ช่วยช้างแม่แตง

พระนคร​ศรี​อยุธยา​ 5 ต.ค. – รมว.​เกษตร​ฯ​ สั่งอธิบดี​กรม​ปศุสัตว์ ​เร่งนำส่ง​ “หญ้า​อาหารสัตว์​พระราชทาน” ช่วย​เหลือ​ช้าง​ของ​ศูนย์​บริบาล​ช้าง​ อำเภอ​แม่แตง​ จังหวัด​เชียงใหม่​ ที่ประสบภัย​น้ำท่วม​ ต้องอพยพสัตว์​หนีน้ำ อธิบดี​กรม​ปศุสัตว์​ระบุส่งถึงจุดพักพิงสัตว์​ชั่วคราว​แล้ววานนี้​ ระดมขนส่งต่อเนื่อง​ทั้งหญ้าสดและหญ้า​แห้ง​ เตรียม​จัดทีมสัตวแพทย์​สนับสนุน​การ​ดูแล​สุขภาพ​และ​รักษา​สัตว์​ต่าง​ๆ​ ของ​ศูนย์​บริบาล​ช้าง​ที่​มีอยู่เป็น​จำนวนมาก นายสัตวแพทย์สมชวน​ รัตนมังคลานนท์​ อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า​ ได้เร่งขนส่ง​ “หญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน” ไปช่วยเหลือ​ช้างกว่า​ 100 ตัวของ ศูนย์บริบาลช้าง อำเภอแม่แตง​ จังหวัดเชียงใหม่ที่ประสบภัยน้ำท่วม​ ตามข้อสั่งการของศ.ดร.​ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยศูนย์บริบาลช้างแห่งนี้ มีช้างกว่า 100 เชือก รวมถึงสัตว์อีกหลายชนิดเช่น​ ควาย​ แพะ​ แกะ​ สุนัข​ แมว​ เป็น​ต้น หลังเกิดเหตุ​น้ำท่วมฉับพลันและระดับน้ำสูง​ ได้​สั่งการ​ให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ลำปางร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียง สำนักงานปศุสัตว์สัตว์อำเภอแม่แตง นำหญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน 2, 000 กิโลกรัม​หรือ​ 2 ตันไปส่งมอบเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นให้แก่ช้าง ทั้งนี้​ กำชับ​ให้​สำนักพัฒนาอาหารจัดส่ง​หญ้าไปช่วยเหลือเพิ่มเติม​ โดยวันนี้​ […]

ปรับเส้นทางรถไฟสายเหนือ

รฟท.ปรับสถานีต้นทางสายเหนือเป็นลำปาง ผลกระทบจากน้ำท่วม

การรถไฟฯ แจ้งปรับเปลี่ยนสถานีต้นทาง-ปลายทาง ขบวนรถสายเหนือ 12 ขบวนเป็นการชั่วคราว หลังเกิดน้ำท่วมเชียงใหม่อีกระลอก