ศูนย์สิริกิติ์ 4 เม.ย.-นักวิชาการชี้ห้องสมุดไทยต้องปรับตัวให้ตอบโจทย์ เข้ากับบริบทสังคมมากขึ้น ทั้งให้ความรู้และเกิดการพัฒนาสร้างรายได้ต่อการดำรงชีวิต เผยอัตราการอ่านของคนไทยเพิ่มขึ้นจาก3 ปีก่อน เฉลี่ย 80 นาที ต่อวัน แต่ส่วนใหญ่เป็นการอ่านจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค ขณะที่อัตราการเข้าห้องสมุดเพื่ออ่านหนังสือในห้องสมุด มีไม่ถึง 3แสนคน
นายชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ กรรมการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้และอดีตรองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวเปิดงาน TK Forum 2019 ในหัวข้อ Design Library Engage Community หรือการออกแบบห้องสมุดเพื่อการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ว่าปัจจุบันกระแสสังคม คนแสวงหาความรู้ไม่จำกัดแค่ห้องสมุด หรือโรงเรียนอีกต่อไปแล้ว มิติการหาความรู้มนุษย์ของศตวรรษที่21 ต้องเน้นการเพิ่มทักษะนอกจากการอ่านออกเขียนได้ คิดเป็นแล้ว ยังครอบคลุมไปถึงการคิด การสร้างสรรค์ การสื่อสาร การทำงานร่วมกับผู้อื่น การเข้าใจวัฒนธรรม การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการสื่อสาร และช่วยให้เกิดรายได้ ดังนั้นห้องสมุดจะต้องไม่เป็นแค่ห้องยืมและคืนหนังสืออีกต่อไป ต้องมีการปรับให้ต่อยอดองค์ความรู้ใหม่ๆ
นายชัยยศ กล่าวต่อว่า ผลสำรวจจากการอ่านของคนไทย พบว่าการอ่านของคนไทยในปี 2561 มีอัตราการอ่าน ร้อยละ 78.8 หรือคิดเป็นจำนวนประชากรที่มีการอ่าน 49.1 ล้านคน หากมีการเปรียบเทียบการอ่านเป็นระยะเวลา จะพบว่าคนไทย มีการอ่านเฉลี่ย 80 นาทีต่อวัน เพิ่มมากขึ้นจาก 3 ปีที่ผ่านมาที่มีอัตราการอ่าน 66 นาทีต่อวัน ส่วนการอ่านในหนังสือกระดาษกับสื่ออิเล็กทรอนิกส์พบว่าร้อยละ88 ยังนิยมอ่านหนังสือกระดาษ ขณะที่ร้อยละ 75.4 อ่านจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไม่ใช่ว่าหนังสือกระดาษได้รับความนิยมน้อยหรือกำลังจะตาย แต่เป็นเพราะช่องทางการอ่านในสื่ออิเล็กทรอกนิกส์มีมากขึ้น สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภค
ส่วนอัตราการยืมหนังสือในห้องสมุด พบว่าลดลงร้อยละ 8.3 หรือคิดเป็นจำนวน 4 ล้านคน ส่วนอัตราการอ่านหนังสือในห้องสมุด มีแค่ 0.6 หรือคิดเป็น 298,000 คน จะเห็นว่าอัตราคนเข้าห้องสมุดน้อยลง คนนิยมอ่านหนังสือที่ร้านกาแฟ มากขึ้น ดังนั้น ต้องมีการปรับตัว ให้ห้องสมุดเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ ให้คนได้เรียนรู้ทักษะหรือนำแนวคิดจากห้องสมุดในต่างประเทศมาเป็นแบบอย่าง เชื่อมต่อกับการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของเมือง หรือบริบทของชุมชน เป็นต้น .-สำนักข่าวไทย