กรุงเทพฯ 30 ม.ค. – บล.ภัทรชี้ความไม่แน่นอนจากการเลือกตั้ง กระทบเศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกชะลอตัว บวกแรงกดดันจากสงครามการค้ากระทบจีดีพีไทยปีนี้โตร้อยละ 3.7
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าทีมวิจัยลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน ) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโตร้อยละ 3.7 ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยปัจจัยสำคัญ คือ ความไม่แน่นอนทางการเมือง แม้จะมีการประกาศวันเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 แล้ว แต่ความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นจากกฎการเลือกตั้ง การยอมรับผลการเลือกตั้ง ระยะเวลาระหว่างวันเลือกตั้งกับวันที่มีรัฐบาลใหม่ ซึ่งคาดว่ารัฐบาลใหม่อาจจัดตั้งได้ปลายเดือนพฤษภาคม 2562 ช่วงเวลาสุญญากาศดังกล่าวอาจทำให้นักลงทุนและผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจ และทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งแรกปีนี้ชะลอตัวได้ อย่างไรก็ตาม หากการเลือกตั้งผ่านไปได้ด้วยดีมีการจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อยมีการส่งต่อนโยบายระหว่างรัฐบาลปัจจุบันกับรัฐบาลใหม่ จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง และคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะเร่งตัวขึ้นตามการลงทุนภาครัฐ มีการกระตุ้นทางการคลังจะช่วยลดทอนผลกระทบด้านลบจากปัจจัยภายนอกได้บางส่วน
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวไทย ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในปีก่อน การส่งออกโตชะลอลงอยู่ที่ร้อยละ 3-4 ขณะที่การท่องเที่ยวเติบโตลดลงเช่นกัน คาดว่าขยายตัวไม่ถึงร้อยละ 10 ส่วนการบริโภคในประเทศขยายตัวไม่มาก เพราะได้รับแรงกดดันจากรายได้ภาคเกษตรที่ยังหดตัวและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ส่วนอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยยังต่ำ
ด้านนายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ปีนี้ตั้งเป้าสินเชื่อโตร้อยละ 8 ลดลงจากปีก่อนที่โตร้อยละ18.5 เนื่องจากสินเชื่ออุปโภคบริโภคยังมีสัญญาณไม่ดี ประกอบกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คุมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ และอาจมีการควบคุมสินเชื่อประเภทอื่นต่อไป จึงตั้งเป้าการขยายตัวของสินเชื่ออย่างระมัดระวัง และคาดส่วนต่างดอกเบี้ยปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 4.5-4.7 ลดลงจากปีก่อนที่ร้อยละ 5 และจะควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ให้ต่ำกว่าร้อยละ 4 จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ร้อยละ 4.1 ขณะเดียวกันจะเร่งธุรกิจ Private Bank ต่อยอดจากสินทรัพย์ภายใต้การให้คำแนะนำ (AUA) ที่มีอยู่กว่า 650,000 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย