สธ.4 ม.ค.-กรม สบส.ส่งทีมวิศวกรฉุกเฉินลงใต้ ร่วมเฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัยและวาตภัยจาก ‘ปาบึก’ เน้นความปลอดภัยของประชาชนเป็นอันดับหนึ่ง สถานบริการสุขภาพและอสม.ต้องพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉินตลอดเวลา
นพ.ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่าตามประกาศของกรมอุตุฯ วันที่ 4 ม.ค.2562 พายุโซนร้อนปาบึก (PABUK) จะส่งผลให้พื้นที่ภาคใต้มีฝนตกเป็นบริเวณกว้างและมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ ในส่วนของ กรม สบส.ได้ตั้งทีมรองรับเหตุการณ์และพร้อมเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่แล้ว
โดยวันนี้ทีมวิศวกรฉุกเฉิน หรือเอ็มเสิร์ท (MSERT) จากกองวิศวกรรมการแพทย์, กองแบบแผน และสำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพเขต 5 จังหวัดราชบุรี จะเดินทางไปสมทบกับทีมเอ็มเสิร์ทในพื้นที่ เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัย และวาตภัยจากพายุโซนร้อน ‘ปาบึก’ ซึ่งได้กำชับให้ทีมวิศวกรฉุกเฉินฯ ทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ให้คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นอันดับหนึ่ง สถานบริการสุขภาพ และอสม.ต้องพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉินตลอดเวลา
สำหรับบทบาททีมเอ็มเสิร์ทนั้น จะมุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมและดูแลสถานบริการสุขภาพให้พร้อมทำการได้ตลอดระยะเวลาที่เกิดภัยพิบัติ ใน 2 ด้านสำคัญ ได้แก่1)ด้านวิศวกรรมการแพทย์อาทิระบบไฟฟ้า, ระบบก๊าชทางการแพทย์,ระบบประปา,ระบบลิฟต์และขนส่ง,ระบบสื่อสารฯลฯต้องมีการป้องกันมิให้น้ำท่วมและมีระบบสำรองในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
2)ด้านอาคารและสภาพแวดล้อม ต้องมีการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้าง หลังคา เสาวิทยุสื่อสาร ป้ายต่างๆ ที่เป็นบริเวณรับลมหรือรองรับน้ำฝนในปริมาณมาก มีการเตรียมความพร้อมและป้องกันระบบระบายน้ำฝน ระบบบำบัดน้ำเสีย เคลื่อนย้ายเครื่องจักร พัสดุ อุปกรณ์ ให้อยู่ในพื้นที่สูง รวมทั้ง เตรียมสถานที่ปลอดภัยสำหรับเป็นศูนย์อพยพ หรือรองรับการส่งต่อผู้ป่วยจากสถานบริการสุขภาพแห่งอื่นๆ
นอกจากนี้หน่วยงานส่วนกลาง ทั้งกองสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชน , กองสุขศึกษา และกลุ่มแผนงานจะร่วมจัดทำข้อมูลคำแนะนำในการดูแลและป้องกันตนเองในช่วงที่เกิดภัยพิบัติ ให้สำนักสนับสนุนบริการสุขภาพเขต และศูนย์พัฒนาการสาธารณสุขมูลฐานในพื้นที่ประสบภัยเพื่อส่งต่อให้กับเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมเป็นหูเป็นตาสอดส่องดูแลความปลอดภัยประชาชน และให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้พิการ หรือหญิงตั้งครรภ์ และถ่ายทอดความรู้ที่ได้ให้แต่ละครัวเรือนในการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าหากเกิดน้ำท่วมระยะยาว .-สำนักข่าวไทย