กรุงเทพฯ 20 พ.ย. – ก.เกษตรฯ เสนอมาตรการเร่งด่วนแก้ไขปัญหายางพาราต่อ ครม.วันนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวสวนยาง
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการด่วนที่สุดให้พิจารณาแนวทางแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำอย่างเร่งด่วน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการหยุดกรีดยางทั่วประเทศ พร้อมกันนี้จะต้องจัดทำโครงการพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกรรายละไม่เกิน 10 – 15 ไร่ รวมถึงจะเร่งรัดการใช้ยางภายในประเทศมากขึ้นนั้น ในวันนี้ (20 พ.ย.) กระทรวงเกษตรฯ จะนำเสนอมาตรการสำคัญ ซึ่งคาดว่าจะลดปริมาณยางพาราออกสู่ตลาดได้อย่างแน่นอน คือ การหยุดกรีดยางหรือโครงการฝากน้ำยางไว้กับต้นยางช่วงราคาตกต่ำเป็นเวลา 1-2 เดือน ทำให้ยางพาราลดลงจากตลาดไปในทันที 500,000 ตันต่อเดือน เพื่อกระตุ้นราคายางพาราในตลาดให้ปรับตัวสูงขึ้น เพราะการซื้อขายยางในตลาดโลกเป็นการซื้อขายล่วงหน้า โดยมีสัญญาส่งมอบสินค้าตามที่ตกลงกัน โดยวิธีการนี้ผู้แทนชาวสวนยางที่มาหารือกับกระทรวงเกษตรฯ และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เห็นด้วยและระบุว่าสถาบันเกษตรกรสามารถควบคุมการหยุดกรีดได้จริง หากมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการมากกว่าร้อยละ 80 ชาวสวนยางทั้งประเทศ จะมอบหมายให้ กยท.ไปจัดทำโครงการส่งเสริมอาชีพชาวสวนยางระหว่างโครงการ เพื่อให้มีรายได้มาชดเชยช่วงหยุดกรีดยางต่อไป มาตรการที่ต้องทำควบคู่ไปด้วย คือ โครงการเร่งด่วนพัฒนาอาชีพ ซึ่ง ครม.จะพิจารณาสนับสนุนรายละไม่เกิน 10 -15 ไร่ เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นระหว่างราคายางพาราตกต่ำ
นอกจากนี้ มาตรการสำคัญอีกประการคือ ลดปริมาณการผลิตยางพารา โดยส่งเสริมให้มีการปรับเปลี่ยนต้นยางพาราที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป หรืออายุ 15 ปี แต่ต้นโทรมให้น้ำยางน้อยไม่คุ้มค่าเพื่อไปปลูกพืชอื่น ๆ รวมทั้งสนับสนุนให้ปลูกพืชต่าง ๆ แซมในสวนยาง โดยอาจพิจารณาให้แรงจูงใจกับเกษตรกรมากกว่าปัจจุบัน เพื่อเร่งการตัดสินใจลดปริมาณการผลิตยาง ซึ่งจะทำควบคู่กับการให้แรงจูงใจกับผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ไม้ยางพาราในประเทศเป็นวัตถุดิบหรือลดภาษีสินค้าเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ไม้ยางพาราในประเทศเป็นวัตถุดิบ เพื่อเพิ่มอุปสงค์ไม้ยางพาราให้สอดรับกับอุปทานไม้ยางพาราที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น
นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรฯ ยังได้ขอความร่วมมือบริษัทผลิตล้อยางให้จัดโครงการเชิญชวนให้ประชาชนเปลี่ยนยางล้อรถยนต์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ราคาถูก โดยสามารถนำใบเสร็จไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลหรือนิติบุคคลประจำปีได้ ขณะที่บริษัทผู้ผลิตจะได้สิทธิพิเศษทางภาษีเช่นกัน โดยมีเงื่อนไขและหลักฐานว่าซื้อยางพาราจากกลุ่มเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรที่ กยท.รับรอง อีกทั้งได้เชิญชวนบริษัทเอกชนทั้งของไทยและต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนผลิตหรือรับแปรรูปยางส่งไปขายต่างประเทศ โดยมีสิทธิพิเศษทางการลงทุนตามที่หน่วยงานรัฐและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) หรือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะกำหนดต่อไป สำหรับการส่งเสริมและเร่งรัดการใช้ยางพาราในประเทศมากขึ้นอย่างเร่งด่วน โดยส่งเสริมการใช้ยางพาราและผลิตภัณฑ์จากยางพาราทุกรูปแบบ โดยจะเริ่มจากหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐ จึงขยายไปสู่ตลาดหรืออุตสาหกรรมต่าง ๆ
นายกฤษฎา กล่าวว่า ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ผู้บริหารกระทรวง และหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ทุกหน่วย รวมทั้งขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอทั่วประเทศสร้างการรับรู้และทำความเข้าใจแก่เกษตรกรและประชาชนว่ามาตรการและวิธีการดังกล่าวเป็นการดำเนินการระยะเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรเท่านั้น กระทรวงเกษตรฯ ยังจะพิจารณาหามาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือชาวสวนยางระยะยาว โดยการรักษาเสถียรภาพราคายางพารา เพื่อให้ชาวสวนยางมีรายได้มั่นคงต่อไป
นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการดังกล่าวนั้น สำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ศึกษาปัญหาภาวะวิกฤติราคายางพาราและแนวทางแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำจากข้อมูลและข้อเท็จจริงจากพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งรวบรวมข้อมูลจากองค์การศึกษาเรื่องยางระหว่างประเทศ (IRSG) และหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ซึ่งพบว่าตั้งแต่ปี 2547 มีการสนับสนุนให้ปลูกยางพาราในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศนับล้านไร่โดยไม่มีการวางแผนการผลิต (Agriculture Production Plan) ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดนั้น จึงส่งผลให้ประเทศไทยเป็นทั้งผู้ผลิตยางพาราปริมาณมากที่สุดในโลกรวมทั้งเป็นผู้ส่งออกยางพารามากที่สุดในโลก กลุ่มประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ยังมีอินโดนีเซีย มาเลเซีย จีน เวียดนามและอินเดีย โดยในปี 2560 ประเทศไทยมีพื้นที่กรีดยางได้ จำนวน 20.32 ล้านไร่ ทำให้ประเทศไทยมีผลผลิตยางมากถึง 4.5 ล้านตันต่อปี ปัจจุบันราคายางพาราตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง โดยราคายางแท่ง ปี 2551 – 2560 ลงลงเฉลี่ยร้อยละ 4.12 ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ลดลงเฉลี่ยร้อยละ 2.86 ขณะที่ต้นทุนการผลิตยางแผ่นดิบของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2550 – 2559 กลับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับราคาขาย โดยต้นทุนการผลิตยางแผ่นดิบของไทยปี 2550-2559 อยู่ที่ร้อยละ 6.94 ส่วนราคาที่ขายได้ต่ำกว่าต้นทุนในอัตราร้อยละ – 3.76
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2557 – 2561 ปริมาณผลผลิตยางเฉลี่ยในประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีปริมาณผลผลิตยางมากที่สุด 4.50 ล้านตันต่อปี มากกว่าทุกช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่ในช่วงปี 2557 – 2561 ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกลดต่ำลง ทำให้มีการใช้ยางสังเคราะห์มากกว่ายางพารา ขณะเดียวกันเกิดความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนและประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ทำให้การส่งออกยางพาราจากไทยไปจีนหรือประเทศลูกค้ารายสำคัญลดลง ส่งผลราคายางตลาดโลกลดลงและส่งผลถึงราคาในประเทศตกต่ำลงด้วย
นายกฤษฎา ย้ำว่าการแก้ไขปัญหาราคายางพาราในประเทศไทยให้ยั่งยืนและไม่มีผลกระทบต่อระบบการคลังของประเทศ คือ ลดการพึ่งพาการส่งออก เพราะราคายางพาราต่างประเทศอยู่ในภาวะลดลงทุกตลาดและราคายางพาราซื้อขายในประเทศยังคงอิงกับราคาซื้อขายยางพาราล่วงหน้าต่างประเทศด้วย ขณะเดียวกันต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศให้มากขึ้น พร้อมกับการปรับสมดุลลดปริมาณ ยางพาราลง จึงจะทำให้ราคายางพาราในประเทศมีเสถียรภาพ
“ขณะนี้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้ไม่เพียงพอ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือตามมาตรการต่าง ๆ เหมือนเช่นในอดีตที่ราคายางพาราตกต่ำ ล่าสุดพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงเกษตรฯ นำเสนอแนวทางต่าง ๆ ให้ ครม.พิจารณาวันนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวสวนยางอย่างเร่งด่วนที่สุด” นายกฤษฎา กล่าว.-สำนักข่าวไทย