รัฐสภา 9 ก.ย. –ที่ประชุมสนช.รับหลักการร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เพื่อให้การบริหารจัดการกองทุนมีประสิทธิภาพ
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ (9 ก.ย.) เริ่มขึ้น เวลา 10.00 น. มีนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. ….ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอโดยนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังชี้แจงหลักการและเหตุผล ว่า เนื่องจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2541 และกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการบริการกองทุนเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2549 การบริหารจัดการมีข้อจำกัด ไม่สอดคลัองกับการผลิตกำลังคน และการพัฒนาประเทศ
“จึงจำเป็นต้องบูรณาการทั้ง 2 กองทุนดังกล่าวให้เป็นเอกภาพอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน เพื่อให้การบริหารกองทุนให้มีประสิทธิภาพ จึงต้องปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยกำหนดให้มีกองทุนเพื่อการศึกษา มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีหน้าที่สนับสนุนส่งเสริมการศึกษาด้วยการให้กู้ยืมเงินแก่นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และในสาขาวิชาที่เป็นความจำเป็นหรือความต้องการหลักของประเทศในการพัฒนาสาขาวิชาที่ขาดแคลน พร้อมกำหนดโครงสร้างให้มีคณะกรรมการกองทุนเพื่อการศึกษา ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและกรอบแนวทางในการดำเนินงาน รวมถึงผู้จัดการกองทุน ซึ่งสามารถจ้างสถาบันการเงิน หรือนิติบุคคลมาบริหารจัดการกองทุนฯ และติดตามเร่งรัดเงินคืน นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ผู้กู้ยืมเงินต้องยินยอมให้กองทุนฯ สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกู้ยืมเงิน และการชำระเงินคืนกองทุนฯ ได้” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าว
นายวิสุทธิ์ กล่าวถึงสถิติของกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ว่า มีสมาชิก 4.6 ล้านราย วงเงินกู้เกือบ 5 แสนล้านบาท ชำระหนี้มาแล้ว กว่า 4 แสนราย และมีคนค้างชำระอีกร้อยละ 74 ส่วนปัจจัยที่ผู้กู้ไม่คืนเงิน เด็กอาจจะไม่มีงานทำและระยะเวลาการให้คืนเงินนานเกินไป อีกทั้งยังมีการสร้างข่าวว่าไม่ต้องจ่ายคืน โดยมีพรรคการเมืองนำไปใช้เป็นนโยบายหาเสียงว่าจะให้โดยไม่ต้องคืนด้วย
ขณะที่สมาชิกแสดงความเห็นด้วยให้ปรับปรุงร่างกฎหมายเพื่อให้การดำเนินการคล่องตัว เนื่องจากมีกลไกที่จะสามารถติดตามเงินกู้ยืมของผู้ค้างจ่ายเข้าสู่กองทุนได้มากกว่าเดิม และกำหนดหลักเกณฑ์ในการคืนเงิน การทวงถามหนี้ให้ชัดเจน โดยเสนอให้เพิ่มเงื่อนไขหักจากภาษีเงินได้ส่วนบุคคล แต่ยังมีข้อห่วงใยเงื่อนไขบางประการที่จะต้องให้ผู้กู้ยืมเปิดเผยข้อมูลโดยการทำสัญญา ซึ่งผู้กู้บางรายยังไม่บรรลุนิติภาวะจึงควรพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้การดำเนินการตามร่างกฎหมายนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ หลังเปิดให้อภิปรายระยะหนึ่ง สนช.ลงมติรับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าววาระแรกด้วยคะแนน 141 ต่อ 1 งดออกเสียง 4 พร้อมตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ 15 คน แปรญัตติ 7วัน กำหนดเวลาดำเนินการ 30 วัน.-สำนักข่าวไทย