กทม. 16 ต.ค. – ยังเป็นกระเเสคุกรุ่นของคนรักสัตว์กับร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมเเละการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ… เเม้นายกรัฐมนตรีจะสั่งระงับชั่วคราวเเละให้ รมว.เกษตรฯ ทบทวนใหม่ ไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน คณะสัตวเเพทย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเวทีระดมความเห็นหาทางออก
ขึ้นทะเบียนสุนัขเเละเเมวควรรอไว้หรือไปต่อ เป็นคำถามนำวงเสวนา หลังเกิดกระเเสถกเถียงขึ้นทะเบียนหมา-แมว เก็บเงิน 450 บาทต่อ 1 ตัว หากไม่ทำ ปรับ 25,000 บาท และเก็บเเล้วจะช่วยเหลือสัตว์ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่
คณบดีสัตวเเพทย์จุฬาฯ เห็นด้วยกับการขึ้นทะเบียน เพื่อควบคุมประชากรสัตว์จรจัดที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่การขึ้นทะเบียนสัตว์ควรฟรีในปีแรก สัตว์ที่ทำหมันแล้วไม่ต้องคิดค่าใช้จ่าย ส่วนที่ยังไม่ทำหมัน อาจไม่ฟรี เพราะบางอาชีพผลิตเพื่อจำหน่าย การทำหมันจะช่วยลดปัญหาสัตว์จรจัดได้อย่างยั่งยืน และลดโรคมะเร็งร้ายในสัตว์ แนะเริ่มนำร่องจดทะเบียนฟรีในบางชุมชนก่อนขยายผลทั่วประเทศ และเสนอรัฐลดภาษีให้แพทย์ที่ช่วยทำหมันให้หมาและแมวด้วย
หัวใจสำคัญของกฎหมายใหม่ มุ่งแก้ปัญหาการทอดทิ้งสัตว์ในที่สาธารณะ ลดสัตว์จรจัดที่เพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2550 มีหมาเเละเเมวจรจัด 350,000 ตัว ปี 2560 พบ 800,000 ตัว เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า คาดการณ์ปี 2570 พุ่งเกือบ 2 ล้านตัว เเละจะไต่ขึ้น 5 ล้านตัว ในปี 2580 หากปล่อยไว้จะก่อให้เกิดโรคระบาด การทารุณกรรมสัตว์
กฎหมายอยู่ระหว่างการหารือของคณะกรรมการกฤษฎีกา และรับฟังความคิดเห็นประชาชน โดยเฉพาะข้อกังวลทั้งเรื่องเงินขึ้นทะเบียน รวมทั้งข้อเสนอหากทำหมันเเล้วไม่ต้องขึ้นทะเบียน หรือขึ้นทะเบียนปีเเรกไม่มีค่าใช้จ่าย หรือให้ประทับตราแทนฝังชิป ซึ่งรองอธิบดีกรมปศุสัตว์ยืนยันหากกฎหมายผ่าน หลังขึ้นทะเบียนจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐ อาทิ ทำหมัน ฉีดวัคซีนฟรี เพื่อไม่ให้เป็นภาระประชาชน
นักวิชาการและคนส่วนใหญ่สะท้อนตรงกันว่า การขึ้นทะเบียนหมา-เเมว ควรไปต่อ แต่รัฐต้องสนับสนุนไม่ให้เป็นภาระกับผู้เลี้ยงมากเกินไป และใช้โอกาสนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่จะสร้างความตระหนักที่ดีให้กับคนเลี้ยงว่า นอกจากจะรับผิดชอบชีวิตสัตว์แล้ว ควรรับผิดชอบต่อสังคมด้วย เพื่อสร้างจิตสำนึกที่ดีในการอยู่ร่วมกัน. – สำนักข่าวไทย