กระทรวงการคลัง 26 ก.ค. – สศค.ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนจากการส่งออก และการใช้จ่ายภาครัฐ
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง และในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2561 ว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็นโต 4.5% จากประมาณการเมื่อเดือนเมษายนที่คาดว่าจะขยายตัว 4.2% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการส่งออก และการใช้จ่ายภาครัฐที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ตามกรอบรายจ่ายเพื่อการบริโภคและการลงทุนภาครัฐประจำปีงบประมาณ 2561
ทั้งนี้ ในการปรับประมาณการเศรษฐกิจ สศค.ยังได้ปรับประมาณการส่งออกปีนี้ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 9.7% จากเดิมคาด 8% ขณะที่การนำเข้าปรับเพิ่มขึ้นเป็น 14.9% จากเดิมที่ 12.5% การบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้นเป็น 3.8% จากเดิมคาด 3.5% ด้านการลงทุนเอกชนปรับเพิ่มเป็น 3.9% จากเดิมที่ 3.8% ขณะที่การบริโภคภาครัฐปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.9% จากเดิมคาด 3% และการลงทุนภาครัฐปรับลดลงมาอยู่ที่ 7.9% จากเดิมคาด 8.9%
ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ยังคงประมาณการอยู่ที่ 1.2% เช่นเดียวกับเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังคงประมาณการที่ 0.7% ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ตามราคาในหมวดพลังงานที่ปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 44.3 พันล้านดอลลาร์ หรือ ประมาณ 8.8% ของจีดีพี
“ในการประมาณการครั้งนี้ เรายังได้ปรับสมมติฐานค่าเงินบาทใหม่ โดยคาดว่าปีนี้ค่าเงินบาทจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นโดยเฉพาะในช่วงปลายปีนี้ โดยค่าเฉลี่ยเงินบาทจะแข็งค่าที่ระดับ 32.25 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากปีก่อน 5% ขณะที่ราคาน้ำมันดิบต่อดูไป ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 70.1 ดอลลาร์ต่อบาเรล จากเดิมคาด 64 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล” นางสาวกุลยา กล่าว
แต่สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ยังคงคาดการณ์ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 1.5% ต่อปี จนถึงสิ้นปี 2561
“ส่วนจะทำให้จีดีพีปีนี้ขึ้นไปถึง 5% มีความเป็นไปได้ แต่จะต้องขึ้นอยู่กับมาตรการการลงทุนต่างๆ ว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ รวมถึงมาตรการอื่นๆ ที่จะออกมาขับเคลื่อนเพิ่มเติม โดยเฉพาะการสนับสนุนเอสเอ็มอี” นางสาวกุลยา กล่าว
ด้านเศรษฐกิจไทยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ประกอบกับไตรมาส 2 พบว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง จากการส่งออก การท่องเที่ยว และการบริโภคภายในประเทศ โดยการส่งออกในเดือนมิถุนายน มีมูลค่า 21.8 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัว 8.2% ด้านไตรมาส 2 มีมูลค่า 20.2 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัว 10.6% สำหรับมูลค่าการนำเข้ามีมูลค่า 20.2 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัว 10.8% ส่งผลให้ดุลการค้ากลับมาเกินดุล 1.6 พันล้านดอลลาร์
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมิถุนายน อยู่ที่ 1.4% เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน ด้านไตรมาส 2 อยู่ที่ 1.3% โดยมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหลัก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 0.8% และไตรมาส 2 อยู่ที่ 0.8% . – สำนักข่าวไทย