จ.เพชรบุรี 24 ก.ย.- ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ย้ำ ควรคง กกต.จังหวัดไว้ แต่จำกัดอำนาจไม่ให้พิจารณาสำนวน ระบุ คณะทำงานยกร่าง พรป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.เสร็จแล้ว เตรียมเข้าที่ประชุม กกต. 26 ก.ย.
นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พรป.)ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า กกต.จะนำเสนอร่าง พรป.ดังกล่าว ต่อกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในวันที่ 29 กันยายนนี้ โดยมีหลักการใหม่หลายเรื่อง อาทิ การสืบสวนสอบสวน ที่ให้พนักงานสืบสวนสอบสวนของ กกต. เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลวิธีพิจารณากฎหมายอาญา เฉพาะการกระทำผิดทุจริตต่อการเลือกตั้งเท่านั้น โดยมีอำนาจออกหมายเรียกและหมายค้น หากพบการซื้อสิทธิขายเสียงแบบซึ่งหน้า ก็สามารถจับกุมได้
ประธาน กกต. กล่าวว่า การเพิ่มอำนาจนี้ สืบเนื่องจากหากไม่มีอำนาจเรียกผู้กระทำผิด ก็จะทำให้คดีล่าช้า และในระหว่างที่คดีล่าช้า หากผู้กระทำผิดเข้าสู่อำนาจทางการเมืองได้ ก็จะเป็นผู้มีอิทธิพลและเป็นอันตรายต่อพยานได้ ส่วนที่ กกต.กำหนดให้ยังคงมี กกต.จังหวัดอยู่ เพราะเห็นว่า กกต. จังหวัดมีประโยชน์ต่อการทำงานของ กกต.ส่วนกลาง สามารถดูแลแบ่งเบาภาระงานในแต่ละจังหวัดได้ แต่ได้จำกัดอำนาจในร่างกฎหมายใหม่ว่า ไม่ให้ กกต.จังหวัดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพิจารณาสำนวนและไม่ให้มีอำนาจในการบังคับบัญชาพนักงาน เพราะในบางจังหวัดมีความขัดแย้งระหว่างผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดกับ กกต. จังหวัด
นายศุภชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีมาตรการคัดเลือกบุคคลที่มีความสุจริต มีความเป็นกลางทางการเมืองไม่ใช่คนของนักการเมืองเข้ามาเป็น กกต. จังหวัด ซึ่ง กกต.จะมีการสืบสวนทางลับว่า บุคคลเหล่านั้น มีความเกี่ยวพันกับนักการเมืองหรือไม่ ขณะเดียวกัน ในร่าง พรป. ดังกล่าว ยังมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อปราบปรามการทุจริตการเลือกตั้งโดยเฉพาะ และมีมาตรการกันบุคคลไว้เป็นพยานเพราะในคดีเลือกตั้งมักหาคนมาเป็นพยานได้น้อย ผู้ที่รับเงินจากการซื้อเสียงยังถือว่ามีความผิด แต่หากให้การที่เป็นประโยชน์ต่อการสอบสวนก็จะเสนอให้กันไว้เป็นพยาน ซึ่งในส่วนนี้ กรธ.ก็ต้องเรื่องการระมัดระวังเรื่องการกลั่นแกล้งเช่นกัน
ประธาน กกต.ยังกล่าวถึงการยกร่าง พรป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)ว่า ขณะนี้คณะทำงานได้ยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว เตรียมเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม กกต.ในวันจันทร์ที่ 26 กันยายน ซึ่งส่วนตัวยังไม่เห็นรายละเอียดของร่าง แต่ยอมรับว่า ร่าง พรป.ดังกล่าวเป็นเรื่องที่ยาก โดยเฉพาะการนับคะแนนการเลือกไขว้ใน 20 กลุ่ม เนื่องจากในรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ว่ามีกลุ่มใดบ้าง ซึ่ง กกต.ก็ต้องนำไปหารือกับ กรธ.อีกครั้ง และการตัดสินใจก็ต้องขึ้นอยู่กับกรธ. และตนเห็นด้วยกับ กรธ. ที่ระบุว่า กระบวนการได้มาซึ่ง ส.ว.ควรจะเป็นไปด้วยความรวดเร็ว เพราะยิ่งช้าก็ยิ่งจะเกิดปัญหา .-สำนักข่าวไทย