กรมศุลกากร 13 มิ.ย. – กรมศุลกากรคุมเข้มนำเข้าเศษขยะอิเล็กทรอนิกส์ ตรวจสอบทุกตู้คอนเทนเนอร์ร้อยเปอร์เซ็นต์แทนการสุ่ม หลังอายัดตรวจความถูกต้องกว่า 100 ตู้ ผลักดันส่งกลับประเทศต้นทาง 40 ตู้คอนเทนเนอร์
นายชัยยุทธ คำคุณ โฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า สถานการณ์นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ปัจจุบันมีการขออนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมนำเข้าเศษพลาสติกปี 2560 จำนวน 145,000 ตัน และปี 2561 ตั้งแต่เดือนมกราคม-เดือนพฤษภาคม นำเข้า 212,000 ตัน นำเข้าเศษอิเล็กทรอนิกส์ ปี 2560 นำเข้า 64,436 ตัน และปี 2561 ตั้งแต่เดือนมกราคม-เดือนพฤษภาคม นำเข้า 52,221.46 ตัน นับว่าทั้ง 2 กลุ่มนำเข้าของเสียอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้อนุสัญญาบาเซลเพิ่มปริมาณมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อประเทศจีนประกาศห้ามนำเข้าขยะ ซึ่งมีผลบังคับใช้ปี 2561 จึงไหลเข้ามาไทยสูงขึ้นต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ในขณะนี้การนำเข้าและมีการจับกุมการกระทำความผิดจำนวนมากได้ที่สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จึงได้อายัดตรวจสอบ 90 ตู้คอนเทนเนอร์ และผลักดันส่งกลับประเทศต้นทาง 40 ตู้คอนเทนเนอร์ เพราะโรงงานในประเทศถูกระงับดำเนินกิจการจากการดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ (ท่าเรือคลองเตย) ได้อายัดตรวจ 33 ตู้ สำนักงานตรวจสินค้าลาดกระบังอายัดตรวจ 37 ตู้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 นำเข้าท่าเรือแหลมฉบัง ดังนั้น เพื่อลดปัญหาลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ จึงคุมเข้มการนำเข้าจัดทำฐานข้อมูลร่วมกันระหว่างกรมศุลกากรและกรมโรงงานอุตสาหกรรม (Big Data) เพื่อทำการแลกเปลี่ยนข้อมูลและนำมาวิเคราะห์บริหารความเสี่ยง (Risk Management) การใช้ระบบเอ็กซเรย์เข้ามาตรวจสอบตู้สินค้าทุกตู้ร้อยเปอร์เซ็นต์แทนการสุ่มตรวรจ
“ยอมรับว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก หากนำเข้าประเทศจำนวนมากและโรงงานในประเทศที่สั่งนำเข้าบริหารจัดการไม่ดีอาจได้รับผลกระทบ เพราะโรงงานบางแห่งตรวจพบคนงานได้รับสารตกค้างจากการแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์เหมือนกับในหมู่บ้าน หากมีบ้านหลังหนึ่งตั้งโรงงานแยกขยะในหมู่บ้าน แม้จะทำถูกกฎหมาย แต่ส่งกลิ่นเหม็น สร้างมลภาวะให้กับคนในหมู่บ้าน ส่วนการยกเลิกอนุสัญญาบาเซล เพื่อปิดทางนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นเรื่องของระดับนโยบายตัดสินใจ” นายชัยยุทธ กล่าว
นายกรีชา เกิดศรีพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง ในฐานะรองโฆษกกรมศุลกากร กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อเปิดตรวจตู้สินค้าที่นำเข้าหรือส่งออกสินค้าเศษอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกจำนวนมาก กรมโรงงานอุตสาหกรรมพร้อมจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำ ณ ท่าหรือท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือคลองเตย ศูนย์กระจายสินค้าลาดกระบัง เมื่อพบการกระทำความผิดจะทำการผลักดันสินค้าเศษอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกออกไปและให้ผู้นำเข้ารับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด รวมทั้งต้องตรวจสอบย้อนกลับกับบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตในการนำเข้า เมื่อผ่านพิธีการศุลกากรตรวจปล่อยของออกไปแล้วจะประสานไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้ไปทำการตรวจสอบ ณ โรงงานในประเทศเพิ่มเติมและยังตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างกรมศุลกากรและกรมโรงงานอุตสาหกรรมหารือข้อกฎหมาย เพื่อกำหนดมาตรการอุดช่องโหว่การนำเข้า นำส่ง นำผ่านไปยังปลายทาง และกำหนดมาตรการเพิ่มโทษกรณีที่มีการกระทำความผิด จากปัจจุบันโทษปรับ 4 เท่าของมูลค่าสินค้า หากบริษัทกระทำความผิดทางกรมศุลกากรจะส่งข้อมูลให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อยกเลิกใบอนุญาตต่อไป
ส่วนกรณีมีกลุ่มมิจฉาชีพแอบอ้างชื่อกรมศุลกากรขายสินค้าในโลกออนไลน์มีการโฆษณาขายสินค้าแบรนด์เนมและแอบอ้างด้วยการนำภาพของผู้บริหารกรมศุลกากร หรือภาพเหตุการณ์การจับกุมนำมาใช้เพื่อการโฆษณาสินค้า เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือนั้น นายกรีชา กล่าวว่า กรมศุลกากรขอชี้แจงว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง เป็นการแอบอ้างหลอกลวงโดยมิจฉาชีพ ทำให้เกิดความเสียต่อประชาชนและกรมศุลกากร กรมศุลกากรขอยืนยันว่าการจำหน่ายสินค้าของกลางกรมศุลกากรจะประกาศขายทอดตลาดอย่างเป็นทางการเพียงวิธีเดียวและจะรับชำระเงินที่ทำการศุลกากร เพื่อนำส่งเข้าคลังไม่ได้นำไปใช้เรื่อง CSR แต่อย่างใด หากมีข้อสงสัยหรือไม่แน่ใจเกี่ยวกับการดำเนินการใด ๆ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ Customs Call Center 1164 หรือทาง e-mail : 1164@customs.go.th.-สำนักข่าวไทย