กรุงเทพฯ 22 พ.ค. – ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย ยกเลิกสอบเข้าอนุบาลและ ป.1 ที่สร้างความเครียดให้กับเด็ก ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาแล้ว เหลือเพียงส่งต่อให้ ครม.เห็นชอบ ซึ่งทุกคนหวังให้มีผลบังคับใช้ทันรัฐบาลชุดนี้
นานกว่า 2 ทศวรรษแล้ว ที่การศึกษาไทยจัดสอบคัดเลือกเข้าชั้น ป.1 จนเกิดการแข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตาย ติวเข้มตั้งแต่อนุบาล หวังเข้าโรงเรียนที่ดีที่สุด เพื่อปลดแอกระบบการศึกษา คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา จึงผลักดันร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย จนเป็นรูปเป็นร่าง ถึง 8 หมวด 48 มาตรา
สาระสำคัญ คือ เน้นให้เด็กช่วงปฐมวัย อายุต่ำกว่า 8 ปี หลุดจากกรอบที่ผู้ใหญ่ขีดเส้นไว้ เพราะวัยนี้เป็นช่วงสำคัญที่สุดต่อการพัฒนาทุกด้าน ห้ามไม่ให้มีการจัดสอบข้อเขียนเข้าอนุบาลและ ป.1 ยกเลิกการเรียน 8 สาระวิชาที่อัดแน่นจนถึง ป.2 ที่ผ่านมาการแข่งขันที่เข้มข้น ใช้คะแนนตัดสินเด็กวัยนี้ เป็นการสร้างตราบาปในชีวิตกับเด็กที่สอบไม่ผ่านว่าไม่ฉลาด ส่งผลให้ขาดความเชื่อมั่นถึงวัยผู้ใหญ่ หากกฎหมายผ่าน โรงเรียนที่ฝ่าฝืนจัดสอบ มีโทษปรับสูงถึง 500,000 บาท
นักวิชาการด้านการศึกษา บอกว่า ประเทศที่ระบบการศึกษาพัฒนา อย่าง ฟินแลนด์ ออสเตรเลีย เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ไม่มีประเทศไหนให้สอบเข้า ป.1 อย่างไทย เนื่องจากมีผลวิจัยจากผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง เห็นตรงกันทั่วโลกว่า เด็กอายุต่ำกว่า 8 ขวบ ไม่ควรจับมานั่งเรียนนานๆ หรือท่องจำสูตร ซึ่งจะส่งผลต่อจินตนาการ และขาดอิสระทางความคิด หากกฎหมายมีผลบังคับใช้ จะช่วยฉีกกรอบเดิมๆ ลบคำปรามาสที่ว่า เด็กไทยเรียนเยอะ เก่งแต่ในตำรา แต่ขาดกระบวนการคิดวิเคราะห์
ขณะที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่มองตรงกันว่า อยากให้ยกเลิกระบบสอบเข้ามานานแล้ว เพราะเห็นเด็กแค่ 3-4 ขวบ ต้องแบกความหวัง นั่งติวอย่างขะมักเขม้น จนสูญเสียชีวิตในวัยเด็กไป
ล่าสุดร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา หลังเดินสายรับฟังความคิดเห็นทั่วประเทศไม่มีเสียงคัดค้าน ทุกคนรอคอยและหวังว่า ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย จะมีผลบังคับใช้ทันรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งจะเป็นกฎหมายฉบับแรกของไทยที่ช่วยลดภาระหนักอึ้งของเด็ก ให้พัฒนาศักยภาพที่มีอยู่ ค้นพบความโดดเด่นของตัวเอง เป็นการปูพื้นสู่การพัฒนาประเทศชาติในอนาคต. – สำนักข่าวไทย