กทม.22พ.ค.-ทันตแพทยสภา-สภาวิชาชีพทางการแพทย์หนุนร่าง พ.ร.บ.นิวเคลียร์ฉบับที่แก้ไขโดยสนช.ระบุแก้ไขปัญหาได้ตรงประเด็น แต่ไม่เห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ.นิวเคลียร์ฉบับที่กระทรวงวิทย์ฯ แก้ไข เหตุไม่ได้แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเครื่องเอกซเรย์ทางการแพทย์ เพียงแค่ต้องการลดกระแสค้าน
ผศ.(พิเศษ)ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา กล่าวถึงการประเมินผลกระทบจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 ซึ่งสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ(ปส.)ให้มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ทำวิจัยให้ ว่า คณะผู้วิจัยได้ให้ข้อเสนอแนะที่น่าสนใจ 2 ข้อ ได้แก่ 1.ควรแยกประเภทเครื่องกำเนิดรังสีตามลักษณะการใช้งานและปริมาณรังสี และ 2.ควรแยกเครื่องกำเนิดรังสีทางการแพทย์ ออกจากเครื่องกำเนิดรังสีประเภทอื่นและให้กระทรวงสาธารณสุข กำกับดูแล เนื่องจากมีประสบการณ์ในการดูแลมานานและมีกฎหมายรองรับ ซึ่งการแยกประเภทเครื่องกำเนิดรังสีจะเป็นการปลดล็อคปัญหาที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอื่นที่ตามมาอย่างเป็นเหตุเป็นผล
นายกทันตแพทยสภา กล่าวต่อว่า จะเห็นได้ว่าผลการวิจัยนี้จึงสอดคล้องกับสิ่งที่ทันตแพทยสภาและบุคลากรทางการแพทย์เรียกร้องให้ดำเนินการแก้ไขมาโดยตลอด ซึ่งสอดคล้องกับร่างแก้ไขกฎหมายที่เสนอโดย นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข ตลอดจน ผู้ให้บริการสาธารณสุข ตัวแทนโรงพยาบาลต่างๆ มีมติประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะให้มีการแก้ไขกฎหมายตามร่างที่เสนอโดย นพ.เจตน์ นี้และได้ทำหนังสือส่งไปยังนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประธานกรรมาธิการการสาธารณสุขของ สนช. พร้อมทั้งส่งรายงานผลการวิจัยที่ดำเนินการโดยนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรไปด้วย
ผศ.(พิเศษ) ทพ.ไพศาล กล่าวว่า ในส่วนร่างกฎหมายพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดำเนินการแก้ไขอยู่ในขณะนี้ทันตแพทยสภาเห็นว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อลดกระแสการคัดค้านและเพื่อเบี่ยงเบนทำให้เข้าใจว่าได้มอบอำนาจการควบคุมกำกับเครื่องเอกซเรย์วินิจฉัยทางการแพทย์ให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้กำกับดูแลเมื่อเทียบกับร่างกฎหมายที่เสนอโดย สนช.แต่โดยเนื้อแท้แล้วยังควบคุมโดย ปส.หากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านการพิจารณาเชื่อว่าจะยังเกิดปัญหาในทางปฏิบัติและไม่ได้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด ดังนั้น ทันตแพทยสภาและสภาวิชาชีพทางการแพทย์จึงไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายของกระทรวงวิทย์ฯ และจะผลักดันให้ สนช.รับหลักการตามร่างแก้ไขกฎหมายฉบับของ สนช.แทน .-สำนักข่าวไทย