สปป.ลาว 15 พ.ค. – ราชบุรีโฮลดิ้งพร้อมทดสอบระบบเดินเครื่องเซเปียนเซน้ำน้อยปีนี้ และเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ต้นปี 62 เล็งขยายการลงทุนโครงการใหม่ใน สปป. ลาวเพิ่มรองรับความต้องการไฟฟ้าในประเทศเพิ่ม
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการเซเปียนเซน้ำน้อย กำลังผลิตติดตั้ง 410 เมกะวัตต์ ใน สปป.ลาว ก่อสร้างก้าวหน้าร้อยละ 89 พร้อมทดสอบระบบเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าปีนี้และเดินเครื่องเชิงพาณิชย์เดือนกุมภาพันธ์ปี 2562 และตั้งเป้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ โครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน และเชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งเป็นโอกาสและศักยภาพใน สปป. ลาว
สำหรับโครงการดังกล่าวผลิตไฟฟ้าที่กำลังผลิต 354 เมกะวัตต์ จำหน่ายแก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะเวลา 27 ปี (ปี 2562-2589) และอีก 40 เมกะวัตต์ จะผลิตและจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าลาว สำหรับโครงการนี้มีมูลค่าประมาณ 32,460 ล้านบาท และเป็นโครงการโรงไฟฟ้าแห่งที่ 3 ของบริษัทฯ ที่ลงทุนใน สปป. ลาว นับจากโครงการโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 615 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าหงสา กำลังผลิตติดตั้ง 1,878 เมกะวัตต์
ปัจจุบันบริษัทฯ ลงทุนใน สปป. ลาว มูลค่ารวม 20,800 ล้านบาท นอกจากโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งข้างต้นแล้ว ยังมีเงินลงทุนในหุ้นของบริษัท ผลิตไฟฟ้าลาว มหาชน และบริษัท ราช-ลาว เซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่เป็นฐานธุรกิจใน สปป.ลาว สำหรับโครงการเซเปียนเซน้ำน้อยเป็นความร่วมมือระหว่างพันธมิตร 4 ราย ได้แก่ ราชบุรีโฮลดิ้ง ถือหุ้นร้อยละ 25, SK Engineering and Construction ร้อยละ 26, Korea Western Power ร้อยละ 25 และ Lao Holding State Enterprise ร้อยละ 24 ซึ่งพัฒนาขึ้นภายใต้ความร่วมมือการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าไทยและ สปป.ลาว ฉบับที่ 4 ลงนามเมื่อปี 2550 โดยกำหนดกรอบรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว 7,000 เมกะวัตต์
นายกิจจา กล่าวว่า โครงการนี้จะช่วยเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งความต้องการใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มสูงขึ้นจากการขยายตัวของชุมชนเมือง การเชื่อมโยงเศรษฐกิจทั้งการค้าและการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน บวกกับการรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) และนโยบายสมาร์ทซิตี้ของรัฐบาล ซึ่งไฟฟ้าที่ใช้ในระบบของภาคอีสานส่วนใหญ่นำเข้าจาก สปป. ลาว ในปีนี้คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดภาคอีสานจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.46 อยู่ที่ประมาณ 3,700 เมกะวัตต์ ขณะที่กำลังผลิตตามสัญญาอยู่ที่ประมาณ 4,100 เมกะวัตต์ สำหรับกระแสไฟฟ้าผลิตจำหน่ายมายังประเทศไทยจะเชื่อมต่อระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ.ที่สถานีไฟฟ้าอุบลราชธานี 3 อีกส่วนหนึ่งจะผลิตป้อนความต้องการใช้ไฟฟ้าในแขวงจำปาสัก และอัตตะปือของ สปป. ลาว โครงการนี้ถือเป็นความร่วมมือระหว่างไทยและ สปป. ลาวในการพัฒนาด้านพลังงานไฟฟ้าที่ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของ 2 ประเทศ
ปัจจุบันบริษัทฯ มีกำลังผลิตตามสัดส่วนรวม 7,552.4 เมกะวัตต์เทียบเท่า ประกอบด้วย กำลังผลิตที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว 6,624.19 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนารวม 928.21 เมกะวัตต์เทียบเท่า จากฐานการลงทุนใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย 5,187.21 เมกะวัตต์ สปป.ลาว 1,121.81 เมกะวัตต์ ออสเตรเลีย 866.35 เมกะวัตต์ จีน 236 เมกะวัตต์ และอินโดนีเซีย 141.03 เมกะวัตต์.-สำนักข่าวไทย