สตูล 28 ก.ย.- นักวิชาการประมงจังหวัดสตูลระบุปูก้ามดาบป่าชายเลนอำเภอท่าแพเป็นตัวบ่งชี้ธรรมชาติสมบูรณ์ ล่าสุดชาวบ้านเพิ่งพบตัวใหญ่หลากสีมากมาย จากเดิมมีแค่ตัวเล็ก ๆ ชี้เป็นปูกินไม่ได้ และหายาก ควรอนุรักษ์ไว้
นายวัชรินทร์ รัตนชู นักวิชาการประมง สำนักงานประมงจังหวัดสตูล เปิดเผยถึงชาวบ้าน ต.สาคร อ.ท่าแพ พบปูก้ามดาบตัวใหญ่ขนาดเท่าฝ่ามือหลายตัวหลายสีสันบริเวณป่าชายเลนว่า ปูก้ามดาบเริ่มพบเห็นได้ยาก และควรอนุรักษ์ไว้ ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปูเหล่านี้ลดประชากรลงเรื่อย ๆ จากการจับปูแสม เมื่อติดปูก้ามดาบมาด้วย แต่ไม่ได้ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ และปูก้ามดาบเป็นปูที่กินไม่ได้ แต่มีคุณค่าทางธรรมชาติอย่างมาก หากพื้นที่ใดมีปูเหล่านี้จำนวนมากจะเป็นสิ่งบ่งชี้ของความเป็นธรรมชาติสมบูรณ์ ความพิเศษของปูก้ามดาบ คือ มีก้ามโตสวยงามจึงเป็นนายแบบชั้นดีของกลุ่มนักอนุรักษ์ที่ชอบถ่ายรูป
นายวัชรินทร์ กล่าวว่า กระดองปูก้ามดามเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู มีก้านตายาว ตัวผู้มีลักษณะเด่นก้ามข้างหนึ่งใหญ่กว่าอีกข้างอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจะใช้ก้ามข้างนี้ในการโบกไปมาเพื่อขู่ศัตรูและเรียกร้องความสนใจจากตัวเมีย อีกทั้งยังใช้เป็นอาวุธในการต่อสู้กัน ขณะที่ปูตัวเมียก้ามทั้ง 2 ข้างจะเล็กเท่ากัน
ด้านนายบาเด็น สุวาหลำ อายุ 60 ปี ชาวบ้านในพื้นที่ กล่าวว่า ที่ผ่านมามักจะเห็นแต่ตัวเล็กบริเวณชายคลองเป็นประจำ แต่ครั้งนี้ตัวใหญ่ขนาดเท่าปูม้าออกโชว์ความสวยงาม บางตัวมีสีส้ม สีแดง ลำตัวมีสีเขียวทั้งตัวเล็กตัวใหญ่ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวมาถ่ายรูปและนำไปศึกษาวิจัย.-สำนักข่าวไทย