รัฐสภา 28 ก.ย.- กรธ.เปิดเวทีฟังความเห็นประกอบการจัดทำพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ มีชัยยึดประโยชน์ประเทศเป็นที่ตั้ง ด้าน กกต. ย้ำ อำนาจใบแดงใบเหลืองใบส้ม ไม่ได้เป็นการติดดาบ ขณะที่ตัวแทนพรรคเล็ก ไม่หนุนให้เก็บค่าสมาชิกพรรค 200
คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเวทีรับฟังความเห็นเพื่อจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. โดยมีตัวแทนจากกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ( สปท.)สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ( สนช.) และพรรคการเมืองเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.กล่าวเปิดการสัมมนา ว่า การรับฟังความเห็นครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของกรธ. หลังร่างรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติ เพื่อรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนไปประกอบการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้ง 2 ฉบับ โดยข้อเสนอแนะที่ได้ในวันนี้(28 ก.ย.) จะนำไปประกอบการพิจารณายกร่างกฎหมายควบคู่กับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
“อย่ามองว่าความคิดเห็นที่แตกต่างกันเป็นความขัดแย้ง ขอให้มองเป็นนานาทรรศนะ ยืนยันว่าจะพิจารณาความเห็นที่ได้โดยคำนึงถึงเหตุผลและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ และจะไม่มองว่าความเห็นที่ได้นี้มาจากความเห็นของฝ่ายใด ไม่ได้แบ่งแยกพรรคเล็กพรรคใหญ่ ทุกความเห็นเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ” ประธานกรธ. กล่าว
นายประวิตร รัตนเพียร กกต.กล่าวว่า อำนาจในการให้ใบเหลืองใบแดง ใบส้ม เป็นไปตามหลักการของร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติ ไม่ได้เป็นการติดดาบเพิ่ม และพร้อมจะรับฟังความเห็นเพื่อจัดทำกฎหมายลูก ก่อนเสนอต่อกรธ.
พ.ท.สดุดี ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม ผู้อำนวยการสำนักกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ ชี้แจงถึงร่างกฎหมายลูกพรรคการเมืองว่าได้กำหนดให้สมาชิกพรรคการเมือง ชำระค่าบำรุงคนละไม่เกิน 200 บาท เพื่อให้สมาชิกมีบทบาทในการเป็นเจ้าของพรรคในการให้พรรคปลอดจากทุน ห้ามกรรมการบริหารพรรคกระทำการใด ๆ โดยทางอ้อมหรือตรง ไม่ให้ผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกครอบงำพรรค หากฝ่าฝืนจะให้พ้นจากตำแหน่ง และกำหนดให้สาขาพรรคมีส่วนในการพิจารณาเสนอรายชื่อผู้สมัครส.ส.ทั้งแบบเขตและแบบบัญชีรายชื่อ และหากกรรมการบริหารพรรคต้องการเปลี่ยนแปลงจะต้องใช้มติ 4 ใน 5 ของคณะกรรมการบริหารพรรค
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภูมมา ผู้ทรงคุณวุฒิประจำสำนักงานคณะกรรการการเลือกตั้ง กล่าวถึงกรอบการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ว่า กกต.ต้องการให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง รวมทั้งให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทั้งการการกำหนดวิธีการจดทะเบียนพรรคการเมือง การกำหนดการโฆษณานโยบายของบรรดาพรรคการเมืองให้มีความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย รวมทั้งเป็นการลดค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตั้งพรรคการเมือง
นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท. กล่าวว่า การจัดการเลือกตั้งต้องให้กระทรวงมหาดไทยช่วยกกต.จัดการเลือกตั้งให้สำเร็จ ที่สำคัญต้องแก้ไขปัญหา การทุจริตการเลือกตั้ง กำจัดธุรกิจพรรคการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง โดยต้องไปกำหนดให้มีการชำระค่าสมาชิกพรรคไม่เกิน 200บาท ต่อคน ต่อปี เพื่อให้มีการยืนยันตัวตน สมาชิกต้องมีส่วนร่วมในการเลือกผู้สมัคร ส.ส. ในแต่ละเขต ที่สำคัญต้องลดค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการจัดการเลือกตั้ง และหาเสียง
ขณะที่นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นตัวแทนพรรคขนาดกลาง แสดงความเห็น ระบุไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของกกต.ที่กำหนดให้กกต.ต้องตรวจสอบนโยบายพรรคการเมืองก่อน เพราะอาจกระทบต่อการหาเสียง แต่สิ่งที่ควรเน้นย้ำคือการทำให้นโยบายเป็นจริง และประเด็นการเอาผิดย้อนหลังเพื่อยุบพรรคการเมืองได้กรณีการล้มล้างการปกครอง และควรกำหนดให้ชัดเจนกรณีให้รัฐช่วยเหลือพรรคการเมืองในการหาเสียง
นายสุรทิน พิจารณ์หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ เสนอให้ใช้เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอกนิกส์ แทนการกากบาทด้วยมือเพื่อลดความผิดพลาด และรวดเร็วในการนับคะแนน รวมถึง ระบุไม่มั่นใจที่กำหนดให้ กกต.มีหน้าที่ในการจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ผู้สมัคร เพราะอาจเกิดความไม่เท่าเทียม อีกทั้ง ให้ กกต. ทำอาจเกิดความล่าช้า มีผลต่อความคิดเห็นของประชาชน
ทั้งนี้ ตัวแทนพรรคการเมืองเล็กที่เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้เรียกเก็บค่าบำรุงสมาชิกพรรคไม่เกิน 200 บาทต่อคนต่อปี เพราะมีกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง ที่กกต.ต้องนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อยู่แล้ว พร้อมทั้งไม่เห็นด้วยกับข้อกำหนดให้องค์ประชุมให้มติพรรคต้องมีองค์ประชุมถึง 200 คน เพราะเป็นเรื่องยากที่พรรคเล็กจะรวบรวมองค์ประชุมได้ถึง 200 คน.-สำนักข่าวไทย