ศาลรัฐธรรมนูญ 28 ก.ย. – ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 272 ไม่สอดคล้องคำถามพ่วงประชามติ ส่งให้ กรธ.แก้ไขภายใน 15 วัน ชี้การเสนอชื่อนายกฯ เป็นอำนาจร่วมของรัฐสภา หลังขั้นตอนแรกไม่สามารถโหวตได้
นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แถลงผลการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ว่า คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณากรณีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ส่งร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขให้เป็นไปตามคำถามพ่วง เพื่อให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติ ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าเป็นการชอบกับผลการออกเสียงประชามติหรือไม่
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวที่ได้แก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 นั้น ไม่ชอบด้วยผลการออกเสียงประชามติ และศาลได้ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการแก้ไขตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในส่วนที่เกี่ยวข้องในร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ดังนี้ 1. ผู้มีสิทธิเสนอขอยกเว้นการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อ คือ สมาชิกรัฐสภาจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา และ 2.กำหนดเวลาและวันเริ่มนับเวลาตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคหนึ่งและวรรคสองคือ ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ โดยกระบวนการนับจากนี้ กรธ.จะต้องดำเนินการแก้ไขตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน ก่อนที่จะส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมต่อไป
สำหรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เจตนารมของรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคสอง มีเจตนารมณ์มุ่งหมายให้เป็นทางออกในกรณีไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้ อีกทั้งขั้นตอนในการเสนอขอยกเว้นตามความในร่าง มาตรา 272 วรรคสองนี้ มิใช่เป็นการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี หากแต่เป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้นหลังจากขั้นตอนการเสนอชื่อบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีของ ส.ส.ตามวรรค 1 แล้ว แต่ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาไม่ สามารถให้ความเห็นชอบได้ ขั้นตอนการเสนอขอยกเว้นอันเป็นขั้นตอนที่จะนำไปสู่การพิจารณาให้ความเห็นชอบต้องกระทำร่วมกันของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา จึงสมควรเป็นอำนาจหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาที่แก้ปัญหาข้อขัดแย้งให้ผ่านพ้นไปได้ สมตามเจตนารมณ์ของผลการออกเสียงประชามติ .- สำนักข่าวไทย