ชัยภูมิ 2 พ.ค.-ประชาชนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติจำนวนมาก แห่เดินทางมาร่วมงานแห่งพลังศรัทธาประเพณีบุญเดือนหก “แห่นาคโหด” แห่งเดียวในโลก ณ บ้านโนนเสลา – โนนทัน ต.หนองตูม อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ที่มีการเขาเล่าขานว่าพิธีแห่นาคที่นี้แปลกประหลาดและโหดที่สุดในโลก
ชาวบ้านโนนเสลา -โนนทัน อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ต่างรวบรวมเงินลงขันกัน จัดงานประเพณีบุญเดือนหก “แห่นาคโหด” ประจำปี 2561 ณ วัดตาแขก (วัดใน) ที่สืบทอดต่อกันมาหลายร้อยปี โดยชาวบ้านจะบริจากเงินทุนทรัพย์ร่วมกันจัดงานอุปสมบทหมู่ให้กับคนหนุ่มหรือบุตรหลานในหมู่บ้านที่มีอายุครบ 20 ปีขึ้นไป เพื่อให้ลูกหลานได้บวชแทนคุณบิดามารดา ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 มีจำนวนนาคทั้งสิ้น 11 นาค เริ่มจากพิธีการตัดและโกนผมนาคในช่วงเช้า และขอขมาพ่อแม่ตลอดญาติผู้ใหญ่ ตามพิธีบวชปกติ ก่อนเข้าพิธีสู่ขวัญ แล้วนาคทั้งหมดที่จะบวชก็จะมารวมตัวกันที่วัดตาแขก ก่อนจะพากันไปกราบศาลปู่ตาประจำหมู่บ้าน ซึ่งตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน และกลับมาวัดฯเพื่อเข้าสู้พิธีบายศรีสู่ขวัญเรียกขวัญนาคในช่วงบ่าย ณ วัดตาแขก (วัดใน) ที่เป็นวัดประจำหมู่บ้าน
พ่อแม่ญาติพี่น้องผู้ปกครองของนาคจะตั้งขบวนแห่ นำนาคขึ้นแห่บนแคร่ไม้ไผ่ โดยจะใช้คนหนุ่มร่างใหญ่แข้งแรงของแต่ละหมู่บ้าน มาช่วยกันหามแคร่ไม้ไผ่ (แคร่ทำจากไม้ไผ่ ลักษณะทำเป็นแคร่เล็กๆ ไว้ตรงกลาง แต่ละคานหาม มีนาคขึ้นนั่ง 1-2 คน คานหาม ) แล้วขบวนแห่นาคโหดของแต่ละหมู่บ้านก็จะเริ่มขึ้น โดยพ่อแม่ญาติพี่น้องของนาคจะเดินถือผ้าไตรจีวร บาตร ตาลปัตร หมอนขิตและ เครื่องบวชต่างๆ นำหน้าขบวนแห่นาคโหดเดินทางออกจากวัดตาแขก ท่ามกลางการบรรเลงเพลงจากรถเครื่องเสียงทีดังกระหึมอย่างสนุกสนานไปรอบหมู่บ้าน โดยแต่ละขบวนจะเขย่าโยนนาคที่นั่งอยู่บนแคร่ไม้ไผ่อย่างรุนแรง ซึ่งถือเป็นการทดสอบความตั้งใจว่า ของผู้บวชจะมีความมุ่งมั่นอดทนที่จะบวชแทนคุณบิดามารดาหรือไม่ โดยผู้บวชจะต้องประคองตัวเองไม่ให้ตกลงมาจากแคร่ หากนาคท่านใดใครตกลงมาจากแคร่ไม้ไผ่ลงมาถูกพื้นดิน จะถือว่าขาดคุณสมบัติไม่ให้บวช
งานบุญอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้ แห่รอบหมู่บ้านกว่า 3 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง อย่างต่อเนื่อง แล้วขบวนก็จะเดินทางกลับมาวนรอบโบสถ์วัดตาแขก อีก 3 รอบ ก่อนจะส่งนาคเข้าโบสถ์เพื่อทำพิธีบวชจากพระผู้ใหญ่จนเสร็จพิธี จนได้รับการเรียกขานจากบุคคลทั่วไปว่า “การแห่นาคโหด” ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยและในโลก ที่ชาวบ้านโนนเสลาร่วมกันอนุรักษ์ไว้ให้เป็นประเพณีอันดีงาม คงอยู่ตลอดไปมานานนับ 100 ปี เลยที่เดียว.-สำนักข่าวไทย




