ศาลฎีกา 19 มี.ค.-ประธานศาลฎีกานัดประชุมใหญ่ศาลฎีกา 26 เม.ย.นี้ เลือก 2 ว่าที่ กกต.ใหม่ หลัง สนช.ไม่เห็นชอบว่าที่ กกต.เดิม พร้อมแก้ระเบียบกาบัตรเลือกใหม่ ให้กาหน้าชื่อ ระบุหมายเลข-ลำดับอาวุโสชัดเจน ส่วนคนสมัครให้ยื่นด้วยตนเองภายใน 21 มี.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 มี.ค.) ที่ศาลฎีกา ถ.แจ้งวัฒนะ ภายหลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีหนังสือด่วนที่สุด ฉบับลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 แจ้งเรื่องการพิจารณาให้ความเห็นชอบกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่ง สนช.ไม่ให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 2 คน จึงให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาต้องพิจารณาคัดเลือกผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น กกต. บุคคลใหม่ แทน 2 คนดังกล่าวนั้น
เมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา ได้ลงนาม ในประกาศศาลฎีกา เรื่องคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็น กกต. โดยกำหนดนัดประชุมใหญ่ศาลฎีกาในวันที่ 26 เมษายน 2561 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมใหญ่ศาลฎีกา ชั้น 1 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ เพื่อลงมติเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็น กกต. 2 คน เพื่อเสนอ สนช.ให้ความเห็นชอบต่อไป โดยผู้พิพากษาในศาลฎีกาที่มีอำนาจหน้าที่เข้าประชุมและลงมติในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกานั้น มีสิทธิเสนอรายชื่อผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็น กกต. คนละไม่เกิน 2 รายชื่อ ซึ่งผู้ประสงค์จะสมัครเข้ารับคัดเลือก ให้ยื่นใบสมัครตามแบบที่กำหนดด้วยตนเองต่อเลขานุการศาลฎีกา ภายในวันที่ 21 มีนาคมนี้ ไม่เกินเวลา 16.30 น.
สำหรับการคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็น กกต.ในส่วนของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ได้มีการออกระเบียบศาลฎีกาว่าด้วยการคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2561 เพิ่มเติมเป็นฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งระเบียบดังกล่าวเห็นสมควรให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมการลงมติคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็น กกต. จากระเบียบศาลฎีกาว่าด้วยการคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 เดิม ในข้อ 10 เป็นว่า “การลงมติเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็น กกต. ตามข้อ 11 ให้กระทำโดยเปิดเผย ด้วยการทำเครื่องหมายกากบาท (X) อย่างชัดเจน ลงหน้าชื่อตัว และชื่อสกุลผู้ซึ่งตนเลือก จำนวนไม่เกิน 2 คน หรือจำนวนเท่าที่ยังขาดอยู่ในบัตรเลือกที่จัดไว้ ซึ่งระบุชื่อตัว และชื่อสกุล ลำดับหมายเลขตามบัญชีอาวุโสในศาลฎีกา แล้วบัตรเลือกไปมอบให้คณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติและนับคะแนน เพื่อดำเนินการนับคะแนนต่อไป” โดยระเบียบศาลฎีกาดังกล่าว ยังระบุว่า ให้เลขานุการศาลฎีกา เป็นผู้เก็บรักษาบัตรเลือกไว้ไม่น้อยกว่า 1 ปี และหากไม่มีการโต้แย้งการคัดเลือกเป็น กกต. ก็ให้ดำเนินการทำลายบัตรเลือกตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบัญ พ.ศ.2562 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2558
นอกจากนี้ นายชีพ ยังได้ลงนามในคำสั่งศาลฎีกาเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2561 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติและนับคะแนนรวม 5 คน ซึ่งเป็นระดับผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้งหมด โดยมีนายธนิต รัตนะผล ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ.-สำนักข่าวไทย