นางสาวกฤตยาพร ทัพภะทัต รองผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ลงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วม ปี 2559 โดยมั่นใจจะสามารถป้องกันอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมได้ โดย กนอ. ได้เตรียมมาตรการเฝ้าระวังปริมาณน้ำที่ระบายออกจากทั้ง 3 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนพระรามหก โดยปริมาณน้ำที่ระบายออก รวมกันทั้ง 3 เขื่อน มีค่าเฝ้าระวังไม่เกิน 3,500 ลบ.ม./วินาที ซึ่งปัจจุบันปริมาณน้ำที่ปล่อยจากเขื่อน 2,700 ลบ.ม./วินาที เทียบกับค่าการระบายน้ำเมื่อ 2554 เฉลี่ยอยู่ที่ 5,800 – 6,000 ลบ.ม./วินาที ถือว่ายังอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวล
นอกจากนี้มีการเฝ้าระวังระดับน้ำ โดยรอบนิคมฯ พร้อมทั้งเตรียมมาตรการป้องกันแต่ละแห่ง โดย นิคมฯบ้านหว้า (ไฮเทค) และนิคมฯบางปะอิน มีเขื่อนป้องกันน้ำท่วมและมีสถานีสูบน้ำเพื่อเตรียมพร้อมในการระบายน้ำออกจากพื้นที่นิคมฯ บ้านหว้ามีความสูงอยู่ที่ประมาณ +5.40 เมตรระดับน้ำทะเลปานกลาง และนิคมฯ บางปะอิน มีความสูงประมาณ +6.00 เมตรระดับน้ำทะเลปานกลาง
ด้านนิคมฯสหรัตนนคร อยู่ระหว่างการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม ความสูงประมาณ +7.50 เมตรระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งขณะนี้มีการตรวจสอบคันป้องกันน้ำท่วมนิคมฯสหรัตนนคร และตรวจสอบระดับน้ำ โดยรอบแนวถนนทางหลวงระยะทาง 32.5 กิโลเมตร (แนวป้องกันชั้นนอก) และด้านนอกคันป้องกันน้ำท่วมนิคมฯ ระยะทาง 7.2 กิโลเมตร (แนวป้องกัน ชั้นใน) วันละ 2 ครั้ง (เช้า 09.00 น. – เย็น 16.00 น.) พร้อมทั้งจัดหาเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหรือเครื่องสูบน้ำเสริมชนิดใช้น้ำมันเชื้อเพลิง มาสำรองในพื้นที่ให้เพียงพอ ในช่วงเดือนกันยายน – พฤศจิกายน จากปัจจุบันที่มีเครื่องสูบน้ำหลัก ชนิดใช้ไฟฟ้า ขนาด 1.5 ลบ.ม./วินาที จำนวน 3 เครื่อง และการเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ เพื่อป้องกันน้ำท่วมฉุกเฉินทั้งเขื่อนเคลื่อนที่เร็ว ทราย กระสอบทราย Big bag เสาเข็มไม้ พลาสติกปกคลุม รวมทั้งได้ขอยืมรถสูบน้ำเคลื่อนที่ ความสามารถ 1,800 ลบ.ม./ชม. จำนวน 2 คัน จากสำนักงานชลประทานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มาเตรียมความพร้อมไว้แล้ว รวมทั้งร่วมฝึกซ้อมแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย กับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา – สำนักข่าวไทย