มธ.ท่าพระจันทร์ 6 ต.ค.- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดกิจกรรมครบรอบ 40 ปี 6 ตุลา 2519 ขณะที่ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ชี้ เหตุการณ์ 6 ตุลาเป็นบทเรียนของการใช้ความรุนแรง พร้อมเปรียบเทียบการเมือง เหมือนรถไฟเด็กเล่น และรถไฟเหาะ แนะ การพัฒนาประชาธิปไตยไทย ต้องเอาทหารออกจากการเมือง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (6 ต.ค.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดกิจกรรม ครบรอบ 40 ปี 6 ตุลา 19 โดยนายสมคิด เลิศไพฑูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธานในพิธีวางพวงมาลา ที่ประติมานุสรณ์ 6 ตุลาคม 2519 พร้อมกล่าวเปิดงาน 40 ปี 6 ตุลาคม 2519 เพื่อระลึกถึงความกล้าหาญของวีรชนคน 6 ตุลา ว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 เป็นเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ ที่มองเห็นความเปลี่ยนแปลงของระบอบการเมืองไทยมาตลอด 40 ปี
จากนั้น นายสุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวสุนทรกถา หัวข้อ “40 ปีเปลี่ยนผ่านประเทศไทย : 40 ปีเปลี่ยน – 40 ปี ไม่ผ่าน?” ตอนหนึ่ง ว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา ยังมีความคลุมเครือ แต่วันนี้เริ่มเห็นภาพมากขึ้น จากสำนักข่าวต่างประเทศ ซึ่งเป็นปีแรกที่มีส่วนร่วมในการตรวจสอบว่า จริงๆ แล้วเหตุการณ์ดังกล่าว มีผู้เสียชีวิตกี่ราย และไม่รวมผู้ที่ถูกเผา ดังนั้น จึงเป็นข้อเตือนใจได้
นายสุรชาติ กล่าวว่า สามารถเปรียบสถานการณ์การเมืองไทย กับรถไฟที่กำลังเดินทางได้ 2 รูปแบบ คือ 1.รถไฟเด็กเล่น ที่วิ่งวนกลับไปกลับมา วิ่งไปข้างหน้า แล้วกลับมาจุดเดิม ซึ่งไม่ใช่หลักประกันในการพัฒนาการเมือง แต่เป็นหลักประกันที่ดีของผู้นำ กลุ่มอนุรักษ์นิยม และทหาร 2. รถไฟเหาะ คือ เมื่อขึ้นจุดสูงสุด ก็ลงสู่จุดต่ำสุด เปรียบได้ว่า การพัฒนาการเมืองทางการเมืองของไทย มีระยะเวลาไม่นาน
“ทั้ง 2 ลักษณะนี้ ไม่ใช่การเปลี่ยนผ่าน แต่ถอยหลังกลับไปในปี 2475 และ 2516 ซึ่งตอกย้ำว่า การรัฐประหารกลายเป็นกฎ มากกว่าข้อยกเว้น การพัฒนา ก็จบด้วยการรัฐประหารอยู่ดี การใช้กำลังในระบอบการเมือง ปี 2553 ไม่แตกต่างกับเมื่อปี 2516 เป็นการใช้กำลังขนาดใหญ่จัดการผู้เห็นต่าง ถือว่าเป็นบทเรียนให้กับผู้มีอำนาจในปัจจุบันว่า ถ้าใช้ความรุนแรง ก็จะเกิดกระบวนการสร้างข้าศึกภายในรัฐ การใช้ความรุนแรงไม่ใช่การแก้ปัญหา และการใส่ร้ายป้ายสี เป็นการสร้างความขัดแย้ง ซึ่งผลจากนโยบายการใช้ความรุนแรงของรัฐ ไม่ได้เป็นไปตามความต้องการของรัฐ” นายสุรชาติ กล่าว
นายสุรชาติ กล่าวว่า ขอฝากคนรุ่นหลังไว้ว่า วันนี้การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย มีเงื่อนไขทั้งบวกและลบ ในปัจจุบันมีเงื่อนไขที่ดีกว่าคนรุ่นก่อน คือ มีสื่อโซเชียลมีเดีย เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการต่อสู้ ขณะเดียวกัน ต้องคิดว่า ทำอย่างไร ที่จะสร้างเงื่อนไขใหม่ ในการพัฒนาการเมือง ดังนั้น การต่อสู้ของนักประชาธิปไตยต้องยอมรับว่า การพัฒนาการเมืองต้องใช้เวลาและความอดทน ต้องสร้างยุทธศาสตร์ประชาธิปไตยและเป็นนักบริหาร
“การพัฒนาประชาธิปไตยไทย ต้องเอาทหารออกจากการเมือง หากเอาออกไม่ได้ ก็ไม่ต้องคิดเรื่องประชาธิปไตย และประชาธิปไตยก็จะเป็นรางวงกลม ดังนั้น หากจะให้ทหารกลับเข้ากรม ผู้มีอำนาจนอกระบบ จะต้องพาการเมืองไทย กลับเข้าสู่ระบบของ 3 ส่วน ได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ที่จะต้องทำหน้าที่ของตัวเอง และต้องตรวจสอบถ่วงดุลได้ ไม่ใช่การตรวจจับ และทำลายดุลเหมือนที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน หลังจากนี้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะถูกกดทับจากยุทธศาสตร์ชาติ ที่ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ร่าง” น่ายสุรชาติ กล่าว และว่า วันนี้ประชาธิปไตยต้องมีการพูดคุย ไม่กล่าวโทษกันเอง และต้องคิดถึงอนาคตของสังคมไทยร่วมกัน .- สำนักข่าวไทย