กรุงเทพฯ14 พ.ย. – บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี (Ratch) ขยายงานทุกด้าน โรงไฟฟ้า-แอลเอ็นจีในอาเซียน-ออสเตรเลีย รวมทั้งธุรกิจอื่นร่วมทุนปลูกพืชพลังงาน ธุรกิจอาหารเสริม ไบโอเทคโนโลยี รวมถึงธุรกิจประปา-รถไฟฟ้า
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าแนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศชะลอตัว ประกอบกับแผนอนุรักษ์พลังงานและส่งเสริมพลังงานทดแทนมากขึ้น ดังนั้น การก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จะลดลง ทางบริษัทจึงวางแผนขยายงานกิจการพลังงานในอาเซียนเพิ่มขึ้น รวมทั้งขยายธุรกิจด้านอื่น ๆ โครงการสื่อสารโทรคมนาคม พืชเชื้อเพลิง เพื่อผลิตเชื้อเพลิงอัดแท่งและธุรกิจน้ำประปาใน สปป.ลาว ซึ่งในส่วนเชื้อเพลิงอัดแท่นจะร่วมกับพันธมิตรตั้งแต่การปลูกพืชพลังงานจนถึงการผลิต โดยมีตลาดส่งออกไปจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นำไปผลิตไฟฟ้า คาดว่าจะสรุปได้ปี 2561
นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาธุรกิจไบโอเทคโนโลยี จากการต่อยอดการเลี้ยงสาหร่ายที่โรงไฟฟ้าราชบุรีคาดว่าปีนี้น่าจะได้ข้อสรุปชัดเจน ซึ่งสามารถผลิตอาหารเสริมสุขภาพความงามและเป็นอาหารสัตว์ ขณะเดียวกันพร้อมที่จะขยายงานธุรกิจไฟฟ้าระบบราง ทั้งระบบรถไฟฟ้าต่าง ๆ และรถไฟความเร็วสูงในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู โดยขณะนี้พันธมิตรร่วมทุน คือ บริษัท ขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส พยายามเร่งให้บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เร่งวางแผนก่อสร้างให้เสร็จโดยเร็ว หลังจากแผนงานเดิมจะก่อสร้างเสร็จปี 2563 แต่มีปัญหา คือ ทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ส่งมอบพื้นที่ล่าช้า โดย รฟม.ระบุว่าจะส่งมอบพื้นที่ต้นปี 2561 ซึ่งตามสัญญาจะต้องก่อสร้างเสร็จหลังรับมอบพื้นที่ภายใน 3 ปี 3 เดือน หรือประมาณปี 2564
บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง แถลงว่า บริษัทฯ คาดหมายกำลังการผลิตปีนี้จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 8,028 เมกะวัตต์เทียบเท่า ดีกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 7,500 เมกะวัตต์เทียบเท่า เป็นผลจากความสำเร็จการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในต่างประเทศและโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองในประเทศไทย นอกจากนี้ ผลประกอบการ 9 เดือนแรกปีนี้ยังมีกำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 69 เป็นเงิน 5,421 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559
บริษัทมีแนวโน้มผลประกอบการที่ดี เพราะขยายการลงทุนได้ตามเป้าหมายใน 3 มิติ คือ 1.ด้านกำลังผลิต มีแนวโน้มจะทำได้เกินเป้าหมาย 2.การขยายฐานธุรกิจใหม่ในต่างประเทศ ก็สามารถเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซียได้สำเร็จ และคาดว่าจะสามารถสรุปการลงทุนในฟิลิปปินส์ได้ปีนี้เช่นเดียวกัน และ 3.การลงทุนในธุรกิจอื่นนอกภาคผลิตไฟฟ้า
“กำลังผลิตขณะนี้เดินเครื่องผลิตแล้ว 6,496 เมกะวัตต์ จากโครงการในมือ 7,379 เมกะวัตต์ แต่เรามีโรงไฟฟ้าที่จะทยอยหมดอายุอย่าง TECO หรือไตรเอ็นเนอร์ยี่หมดอายุปี 2563 และโรงไฟฟ้าราชบุรีหมดอายุปี 2568 และ 2570 ต้องปิดความเสี่ยงหากำลังผลิตให้ cover ได้และหาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมาเสริมเพื่อเพิ่มกำลังผลิตอีกปีละ 700 เมกะวัตต์ ถ้าเป็นแบบนี้เป้าที่จะมีกำลังการผลิต 10,000 เมกะวัตต์ในปี 25 66 อาจจะทำได้ถึง 12,000 เมกะวัตต์” นายกิจจา กล่าว
นอกจากประเทศไทย บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรียังมีการลงทุนใน สปป.ลาว ออสเตรเลีย จีน และอินโดนีเซีย ส่วนในเมียนมาร์มีการหาลู่ทางลงทุนนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจี และหารือเรื่องขายไฟฟ้ากลับไปจากโรงงไฟฟ้าไตรเอนเนอร์ยี่ของไทยด้วย. – สำนักข่าวไทย