สำนักข่าวไทย 11 พ.ย.-รู้จักภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน
เพื่อป้องกันก่อนสายเกินไป
ข้อมูลจากโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ระบุภาวะหัวใจวายหรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
เกิดจากการมีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดหัวใจอย่างเฉียบพลัน
ซึ่งลิ่มเลือดเหล่านี้เกิดจากการที่ร่างกายมีภาวะไขมันมากเกินไปจนพอกเป็นตะกรัน (plaque) เกาะอยู่ตามผนังของหลอดเลือด
เมื่อรวมเข้ากับเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มากัดกินก็ทำให้เกิดเป็นกลุ่มเซลล์ที่ไม่สามารถดูดกลับเข้าไปในร่างกายได้
แต่กลับฝังตัวอยู่ในผนังหลอดเลือดแทน เมื่อเวลาผ่านไป ตะกรันนี้จะแตกตัวหรือปริออก
หลอดเลือดจะพยายามซ่อมแซมตัวเอง จนเกิดลิ่มเลือดไปอุดกั้นหลอดเลือด
ถ้าเป็นการแตกตัวที่หลอดเลือดแขนงเล็ก ผู้ป่วยจะมีเพียงอาการเจ็บหน้าอก
แต่ถ้าลิ่มเลือดนี้อุดตันหลอดเลือดขนาดใหญ่ก็อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
ปัจจัยเสี่ยงของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแบบเฉียบพลัน
(หัวใจวาย)
– ความดันโลหิตสูง
– ไขมันในเลือดสูง
– เบาหวาน
– การสูบบุหรี่
– มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
– โรคอ้วน
อาการนำที่สำคัญที่ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์
โรคนี้มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน
บางรายอาจมีสุขภาพปกติแข็งแรงดี แต่อยู่ๆก็มีอาการผิดปกติ เช่น
– เจ็บแน่นหน้าอกเหมือนมีอะไรมากดทับอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตรงกลางอก นานเกินกว่าหนึ่งนาทีขึ้นไป
– เจ็บแน่นหน้าอกร้าวไปยังบริเวณคอ กราม ไหล่และแขนทั้งสองข้าง
– เหงื่อออกตามร่างกาย
– เหนื่อยง่าย หายใจถี่กระชั้น
– วิงเวียน หน้ามืด
– ชีพจรเต้นเร็ว
– ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร
ไม่รับประทานอาหารที่มีไขมันและแคลอรีสูง หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเค็มจัด
อาหารจานด่วนหรืออาหารสำเร็จรูป ลดเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาล
และเน้นการบริโภคผักและผลไม้ให้มากขึ้น
– หยุดสูบบุหรี่
– ลดความเครียด
– ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ทราบแบบนี้แล้ว ผู้ที่มีอาการใกล้เคียงกับข้อมูลข้างต้น
หรือคนทั่วไปควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่จะทำให้เกิดภาวะดังกล่าว และควรตรวจร่างกายอย่างละเอียดทุกปี
เพื่อหาทางรักษา หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมต่างๆเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุน่าเสียใจที่ไม่สามารถแก้ไขได้ภายหลัง.-สำนักข่าวไทย
ขอบคุณข้อมูลภาพและข้อมูลจาก https://www.bumrungrad.com/th