กระทรวงมหาดไทย 31 ต.ค.-ปลัดมหาดไทยมีหนังสือด่วนถึงผู้ว่าฯ ทั่วประเทศเข้มงวดเล่นดอกไม้เพลิง จุดพลุ ตะไลและปล่อยโคมลอยในเทศกาลลอยกระทง ป้องกันความสูญเสีย
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือด่วนที่สุดสั่งการผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้กวดขันเรื่องการเล่นดอกไม้เพลิง การจุดและปล่อย พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน ในช่วงเทศกาลลอยกระทง ในวันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายนนี้ เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวประชาชนนิยมเล่นตามเทศกาลกันอย่างแพร่หลาย และที่ผ่านมาพบว่ามีเหตุระเบิดและเพลิงไหม้อยู่บ่อยครั้ง ทำให้เกิดการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินประชาชน ดังนั้นจึงต้องมีมาตรการป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น และลดการสูญเสียชีวิต ทรัพย์สิน โดยต้องรายงานผลกรณีมีเหตุการณ์สำคัญ หรือจับกุมเกี่ยวกับการจุดและปล่อยพลุ ตะไลโคมลอยโคมไฟ โคมควันให้ส่วนกลางทราบทันที
“จังหวัดต้องกำชับอำเภอ พิจารณาอนุญาตการจุด และปล่อยพลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุที่คล้ายคลึงกัน ตามหลักเกณฑ์การอนุญาต จากนายอำเภอท้องที่ หากฝ่าฝืนต้องระวังโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 27 / 2559 ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2559 รวมทั้งประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ กำชับหัวหน้าส่วนราชการ กำนันผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ให้ทราบอย่างต่อเนื่องว่า หากฝ่าฝืนจะมีโทษ” ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าว
นายฉัตรชัย กล่าวว่า ให้นายทะเบียนท้องที่และเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธพ.ศ. 2490 ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบแนะนำร้านค้า ที่จำหน่ายดอกไม้เพลิงและแหล่งผลิตให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ให้นายทะเบียนท้องที่กวดขันห้ามมิให้ จำหน่ายดอกไม้เพลิงนอกเหนือจากสถานที่ค้าที่ได้รับอนุญาตเป็นอันขาด ทุกพื้นที่ต้องกวดขันและตรวจตราสถานบริการ สถานบันเทิง ท่าเรือ เรือและโป๊ะ สถานีขนส่ง โดยประสานสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค และเจ้าหน้าที่ตำรวจในการกำกับดูแลสอดส่องตรวจตราสถานที่ดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุหรืออุบัติภัยจากการจุดและปล่อยพลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุที่คล้ายคลึงกัน
“กำชับไม่ให้ท่าเรือ เรือ หรือโป๊ให้บรรทุกประชาชนผู้โดยสารหรือผู้ร่วมงานประเพณีลอยกระทงจนมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน และให้กำกับดูแลเจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่งมีอำนาจออกคำสั่งระงับและป้องกันเหตุเดือดร้อนรำคาญในการเล่นดอกไม้เพลิง ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินโดยอาศัยอำนาจ ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุขพ.ศ. 2535 มาตรา 25(4) มาตรา 26 มาตรา 27 และมาตรา 28” ปลัดกีระทรวงมหาดไทย กล่าว.-สำนักข่าวไทย
![](https://imgs.mcot.net/images//2017/10/1509429207852.jpg)