กกต. 4 ก.พ.- “สนธิญา” จี้ กกต.ตอบให้ชัดใช้กฎหมายใดรับรอง “ทักษิณ-ณัฐวุฒิ-ธนาธร-พิธา” เป็นผู้ช่วยหาเสียงเลือกตั้ง อบจ. ชี้ขนาดคนจะเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งยังต้องมีชื่อในทะเบียนบ้านพื้นที่นั้นๆ 1 ปี เล็งยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินหากตอบไม่เคลียร์
นายสนธิญา สวัสดี นักเคลื่อนไหว ยื่นหนังสือต่อ กกต.และเลขาธิการ กกต. ขอความชัดเจนว่าใช้กฎหมายหรือพระราชบัญญัติฉบับใดในการรับรองให้นายทักษิณ ชินวัตร นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นผู้ช่วยหาเสียงในการเลือกตั้งสมาชิกสภาและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายสนธิญา กล่าวว่า การเป็นผู้ช่วยหาเสียงของบุคคลเหล่านี้ตนเคยร้องต่อ กกต.ไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง ว่าคนที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองสามารถเป็นผู้ช่วยหาเสียงหรือเกี่ยวข้องกับการเมืองได้หรือไม่ วันนี้จึงมายื่นหนังสือถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยเฉพาะเลขาธิการ กกต.ที่ให้สัมภาษณ์ว่าผู้ช่วยหาเสียงของทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนสามารถทำได้ เพราะถ้าไปดูความหมายของคำว่าสิทธิทางการเมือง ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2554 มีอยู่ 3 ประเด็นหลัก คือ 1.สิทธิในการแสดงความคิดเห็น 2.สิทธิแสดงออกในด้านการเมือง 3.สิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองในวิถีทางระบบประชาธิปไตย ซึ่งบุคคลที่ไปเป็นผู้ช่วยหาเสียงของทั้งสองพรรค เป็นผู้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองทั้งหมด
นอกจากนี้เห็นว่าตาม พ.ร.บ.การเลือกสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 มาตรา 38 (3) กำหนดว่าทุกคนที่จะเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง จึงมองว่าผู้ที่จะเป็นผู้ช่วยหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นในแต่ละจังหวัดก็ควรที่จะมีคุณสมบัติดังกล่าวเช่นกัน จึงอยากถามว่าผู้ช่วยหาเสียงของทั้งสองพรรคมีสำเนาทะเบียนบ้านอยู่ในจังหวัดที่ไปช่วยหาเสียงหรือไม่
“ถามว่านายทักษิณ มีสำเนาทะเบียนบ้านอยู่ในทุกจังหวัดที่ไปหาเสียงหรือครับ และขอถาม กกต.และเลขา กกต.ว่าใช้บทบัญญัติใดของรัฐธรรมนูญ หรือพระราชบัญญัติใดในการรับรองว่าบุคคลคนเหล่านี้ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองและไม่ได้มีสำเนาทะเบียนบ้านอยู่ในพื้นที่นั้นๆ เป็นผู้มีสิทธิ์เป็นผู้ช่วยหาเสียงของผู้สมัครสมาชิกสภาท้องถิ่น ถ้า กกต.ไปใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. ตรงนั้นมันจะกว้างระดับประเทศ แต่ในกรณีใช้ พ.ร.บ.การเลือกตั้งท้องถิ่นมันใช้ได้แค่จังหวัดนั้นๆ เพราะขนาดจะเป็นผู้ร้องทุจริตเรื่องการเลือกตั้งยังต้องเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในท้องถิ่นนั้นๆ” นายสนธิญา กล่าว
นายสนธิญา และว่า วันนี้มีคนส่งเรื่องเกี่ยวกับการทุจริต อบจ.ใน 3 จังหวัดมาให้แต่ตนก็ไม่สามารถนำมาร้องได้ เพราะไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในจังหวัดนั้นๆ จึงต้องการได้ความชัดเจนเรื่องนี้จาก กกต.ซึ่งหากไม่ได้ความชัดเจนก็จะยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้พิจารณาวินิจฉัยต่อไป
ส่วนที่เลขา กกต.ออกมาชี้แจง ว่าใช้ระเบียบนี้มาตั้งแต่ปี 2562 แล้ว นายสนธิญา มายื่นคำร้องจะถูกมองว่าเป็นการร้องไปที่ตัวบุคคลหรือไม่ นายสนธิญา ยืนยันส่วนตัวไม่มีเรื่องโกรธเคือง ส่วนที่ระบุว่าใช้มาตั้งแต่ปี 2562 นั้น ตนขอถามกลับว่าทำถูกกฎหมายหรือไม่ ขอให้ชี้แจงว่าใช้ พ.ร.บ.หรือกฎหมายฉบับไหน ยืนยันตนไม่ได้มาฟ้อง แต่มาร้องขอให้พิจารณาและวินิจฉัย ชี้แจงกับประชาชนทั้งประเทศว่าได้ใช้กฎหมายฉบับใดรับรองการเป็นผู้ช่วยหาเสียงตามที่ออกมาชี้แจง
ทั้งนี้ตนได้ส่งรายชื่อไปเป็นผู้ช่วยหาเสียง อบจ. ที่ จ.สุราษฎร์ธานี มีค่าจ้าง ค่าเดินทาง แต่ได้สั่งให้ระงับ และไม่ได้เดินทางไป เพราะตนติดขัดในเรื่องดังกล่าวด้วย ซึ่งก่อนที่จะมีเรื่องนี้ ตนก็ได้มีข้อสงสัยถามในประเด็นคนที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปแล้ว ดังนั้นยืนยันไม่ได้ถือโทษโกรธเคืองหรือมีประเด็นใดกับเลขา กกต.และประธาน กกต.แม้แต่นิดเดียว ยังไม่เคยเจอตัวจริง แต่ในฐานะที่ตนเป็นนักการเมือง และผ่านการเลือกตั้งมาทุกระดับ จึงอยากทราบว่า กกต.ตอบให้ชัดเจน เพราะมีประชาชนหลายคนเกิดความสงสัยในประเด็นนี้เช่นกัน
ส่วนอีกประเด็นวันนี้ กกต. กทม. เรียกตนมาชี้แจงกรณีที่ได้ยื่นร้องการเลือก สว.ว่าบริษัทพลังงานใหญ่ แห่งหนึ่ง ส่งผู้สมัคร เลือก สว. ที่ผ่านมา และลงคะแนนให้เฉพาะคนเดียว เบอร์เดียว อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายเลือกตั้ง สว. เหตุการณ์เกิดขึ้นในห้องของการลงคะแนน ที่บุคคลภายนอกจะไม่รู้ กรณีนี้ กกต.เรียกตนมาสอบเป็นครั้งที่ 3 แล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ได้รับคือ ตนไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้สมัคร สว. ที่เป็นระดับศาสตราจารย์หรือด็อกเตอร์มาให้ปากทำอะไรเลย .314.-สำนักข่าวไทย