จีน 13 ก.ย. – กรุงปักกิ่งขึ้นชื่อเรื่องมลพิษขั้นเลวร้าย ขณะที่ทางการยังไม่สามารถแก้ไข ชาวเมืองจะปรับตัวเพื่อรับมือกับหมอกควันนี้อย่างไร ติดตามใน “สารคดีโลก”
สภาพหมอกควันสีเทาปกคลุมทั่วท้องฟ้า กลายเป็นภาพที่ชินตาในกรุงปักกิ่ง ซึ่งกลายเป็นเมืองที่มีระดับมลพิษที่เป็นอันตราย สาเหตุมาจากการเผาถ่านหินและควันพิษรถยนต์ ในปีนี้ทางการจีนจะทุ่มงบประมาณ 2,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 14,000 ล้านบาท) เพื่อแก้ปัญหานี้ แต่ระหว่างที่ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ชาวปักกิ่งจึงต้องหาวิธีบรรเทาปัญหาด้วยตัวเองไปพลางๆ ก่อน
ลูโดวิค โบแดง สามีชาวฝรั่งเศสของ หวัง เจียง อาศัยอยู่ในกรุงปักกิ่งมานาน 12 ปี เขาเคยทดลองมาหลายวิธี ทั้งตรวจวัดคุณภาพอากาศในบ้าน ใช้เครื่องกรองอากาศ และอุดช่องว่างตามประตู-หน้าต่าง แต่เมื่อปีที่แล้ว ภรรยาของเขาซึ่งอยู่ระหว่างตั้งครรภ์ มักตื่นนอนด้วยอาการปวดศีรษะตอนเช้า โดยไม่รู้เลยว่า การปิดประตู-หน้าต่างมิดชิด และเปิดเครื่องฟอกอากาศ จะทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในบ้านสูงขึ้น
มาปีนี้พวกเขาจึงติดตั้งเครื่องกรองอากาศเหมือนที่ตามโรงงาน สำนักงาน และโรงแรมใช้ ซึ่งมีท่อนำอากาศจากภายนอกไปผ่านแผ่นกรองอากาศ 3 ชั้น และหมุนเวียนกลับมาใช้ในบ้าน ทุกวันนี้ภรรยาของเขาสามารถออกกำลังกายในบ้านได้ โดยไม่รู้สึกกังวล พวกเขาจ่ายเงินมากกว่า 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 165,000 บาท) เพื่อติดตั้งระบบระบายอากาศ ระบบทำความร้อน และท่อต่างๆ ใหม่ แม้จะสิ้นเปลือง แต่เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อปกป้องครอบครัว
ที่โรงเรียนไอวี ไบลิงกวล ก็มีการกำชับให้ครูปิดหน้าต่างก่อนเริ่มเรียน 15 นาที เพื่อให้เครื่องฟอกอากาศทำงาน และติดตั้งสัญญาณไฟเขียว-ไฟแดง เพื่อบอกให้นักเรียนรู้ว่า ในวันนั้นจะออกไปเล่นนอกห้องเรียนได้หรือไม่
ส่วน โจว อี้ จะถ่ายรูปท้องฟ้าในกรุงปักกิ่ง เพื่อบอกถึงคุณภาพอากาศ โพสต์ลงสื่อออนไลน์ทุกวันมาตั้งแต่ปี 2556 ปัจจุบันมีผู้สนใจเข้าไปติดตามข้อมูลนับแสนคน และในปีนี้เขาได้จัดตั้งกลุ่มเอ็นจีโอชื่อ BeijingAirNow ร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์พัฒนาเทคโนโลยีวิเคราะห์คุณภาพอากาศจากภาพถ่าย โดยหวังจะเผยแพร่ข้อมูลคุณภาพอากาศจากภาพถ่ายให้กับเมืองต่างๆ ทั่วโลก. – สำนักข่าวไทย