25 ก.ย. – ปัญหาใหญ่ของ จ.เชียงราย คือขยะ หลังน้ำท่วม ประมาณ 68,000 ตัน วันนี้จะพาไปดูโมเดลการจัดการขยะของญี่ปุ่น ว่าจัดการอย่างไรในช่วงสึนามิ ที่มีขยะมากถึง 28 ล้านตัน
อีกปัญหาใหญ่ของ จ.เชียงราย คือขยะ นายสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า จากการติดตามสำรวจขยะมูลฝอยในพื้นที่น้ำท่วมเทศบาลนครเชียงราย และเทศบาลตำบลแม่สาย จ.เชียงราย มีขยะมูลฝอยสะสมคาดการณ์ประมาณ 68,000 ตัน ปัจจุบันเก็บขนไปจัดการได้ประมาณ 9,400 ตัน คงเหลือรอการจัดการ 58,600 ตัน โดยแยกเป็นเทศบาลนครเชียงราย ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด 50,000 ตัน ปริมาณขยะที่เก็บขนได้ 6,400 ตัน คงเหลือขยะตกค้าง 43,600 ตัน ส่วนเทศบาลตำบลแม่สาย มีปริมาณขยะคาดการณ์ 18,000 ตัน เก็บขนแล้ว 3,000 ตัน คงเหลือขยะตกค้าง 15,000 ตัน
ปัญหาอุปสรรคจุดพักขยะทั้ง 2 แห่ง มีขยะเต็มพื้นที่ไม่เพียงพอต่อการรองรับขยะ ซึ่งอยู่ระหว่างพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดหาพื้นที่รองรับการคัดแยกขยะอย่างเร่งด่วน ตอนนี้สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยเทศบาลเทศบาลตำบลแม่สาย ก็มีขยะเกือบเต็มความจุ จำเป็นต้องของบประมาณเพิ่มเติมเพื่อขยายพื้นที่รองรับ ส่วนระบบบำบัดน้ำเสียพบว่าเสียหายหลายจุด
ทั้งนี้ มีแนวคิดหาพื้นที่เก็บขยะชั่วคราว นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งการให้ ประสานหาพื้นที่ในการกำกับดูแลของ ทส. เพื่อเป็นจุดพักกองขยะน้ำท่วมชั่วคราว ซึ่งลงพื้นที่ร่วมกับกรมป่าไม้ สำรวจพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดอยปุย ซึ่งเป็นพื้นที่ตรวจยึดอยู่ระหว่างดำเนินคดี พบว่ามีพื้นที่เหมาะสม 2 ไร่ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่มีความชันสูง คาดว่าจะสามารถเป็นจุดพักกองขยะชั่วคราวได้ประมาณ 4,000 ตัน และจะสำรวจพื้นที่ ต.ป่าก่อดำ อ.แม่ลาว ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 50 ไร่ เพื่อเป็นจุดพักกองขยะน้ำท่วมชั่วคราวเพิ่มเติม
สำหรับประเด็นการหาพื้นที่เก็บขยะ ขอหยิบยกมาจากโมเดลของประเทศญี่ปุ่น ข้อมูลนี้ได้รับมาจาก “ดร.เอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ในฐานะอดีตนายกสภาวิศวกรฯ ซึ่ง ดร.เอ้ ได้มีโอกาสไปดูงานเรื่องการกำจัดขยะในช่วงภัยพิบัติของประเทศญี่ปุ่น โดยยกโมเดลช่วงภัยพิบัติสึนามิ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ปี 2011 มีขยะจากเหตุการณ์นี้ 28 ล้านตัน ญี่ปุ่นจัดทำเป็นคู่มือ เป็นตารางการปฏิบัติ โดยเมื่อถึงเวลาเกิดเหตุไม่จำเป็นต้องเสียเวลาคิด เพราะถูกคิด ออกแบบ วางแผน สามารถปฏิบัติตามมาตรการที่วางไว้ได้เลย โดยแบ่งเป็นหมวดหมู่ดังนี้
1.ของใช้ในบ้าน เช่น ทีวี ตู้เย็น ของเหล่านี้ คืนเจ้าของบ้าน
2.ซากจากบ้านพัง เช่น ซากไม้ ซากโครงสร้างต่างๆ ที่มาจากโครงสร้างบ้าน
3.ไม้ วัสดุอื่นๆ อาจเป็นบรรดาเฟอร์นิเจอร์
4.อิฐ ซีเมนต์ เพื่อนำไปบด อัด แยก
5.ดินโคลน ทราย เพื่อนำไปถมที่
6.เรือ รถยนต์ ที่น้ำพัดพาไป
7.ในพื้นที่ฟูกูชิมะเป็นพื้นที่ที่ถูกนิวเคลียร์ระเบิด ก็มีสารปนเปื้อน (เป็นสิ่งที่ไทยไม่มี)
ถือว่าญี่ปุ่นมีความยากของเหตุการณ์มากกว่าประเทศไทยอีก โดยทั้ง 7 หมวดหมู่ จะถูกคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง ก่อนขนไป ไม่ใช่ไปแยกในสถานที่เก็บขยะชั่วคราว เมื่อถึงเวลามีภัยพิบัติ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการอบรมเรื่องภัยพิบัติ และมีหน่วยงานสั่งการเมื่อเกิดภยพิบัติ จะทำหน้าที่แบ่งงานแต่ละหน่วยงานว่าทำอะไรบ้าง และจ้างงานชาวบ้านในพื้นที่มาช่วยกันคัดแยกตามหมวดหมู่ โดยมีการขนเศษไม้ เศษอิฐ หิน โลหะ ไปก่อน โดยแยกไม้ไว้ที่หนึ่ง หินไวอีกที่หนึ่ง ส่วนสถานที่ ตามหลักไม่ควรเป็นป่า เพราะรถเข้าถึงยาก การขนใช้ทรัพยากร น้ำมัน แรงงานต่างๆ ยิ่งไกลยิ่งเสียทรัพยากร ญี่ปุ่นจะหาพื้นที่ที่อยู่ใกล้จุดเกิดเหตุ เดินทางสะดวก ขนส่งสะดวก การเข้าไปช่วยสะดวก เป็นพื้นที่พักขยะชั่วคราว (เมื่อเคลียร์เสร็จพื้นที่จะกลับมาว่างเปล่าเหมือนเดิม) ซึ่งญี่ปุ่นใช้พื้นที่ชั่วคราวเยอะ เพราะเขากระทบเป็นวงกว้าง
หากแนะนำควรเป็นพื้นที่เขตข้างทางที่มีพื้นที่กว้างขวางมากพอ ขยะที่คัดแยกหากเป็นปูนจะนำไปบดให้ละเอียด ทำเป็นวัสดุก่อสร้าง หากเป็นไม้จะตากแห้งเป็นเชื้อเพลิง ดินทรายนำไปถมพื้นที่ อย่างพื้นที่ จ.เชียงราย ดิน โคลนนั้นถือเป็นดินคุณภาพดีด้วย ขณะนี้กำลังเตรียมเสนอเรื่องการเตือนภัย และจะต้องลงพื้นที่ไปช่วยด้วย ในฐานะที่ตอนนี้เป็นรัฐบาล ที่ต้องลงมือทำด้วย วันศุกร์-เสาร์นี้ จะไปสำรวจโครงสร้างบ้านเรือน เพราะลักษณะน้ำที่ท่วม คือน้ำกัดเซาะดินด้านล่าง กระทบต่อโครงสร้างบ้านเรือนประชาชน จะสำรวจดูว่าปลอดภัยเพียงพอต่อการอยู่อาศัยหรือไม่ ส่วนโมเดลเรื่องการกำจัดขยะจะเสนอรัฐบาลหรือไม่ คิดว่าคงจะเสนอ และถ้านายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ตนดำเนินการเรื่องนี้ก็ยินดี ในฐานะที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล และมีหน้าที่ต้องรับใช้บ้านเมือง.-สำนักข่าวไทย