สุพรรณบุรี 18 พ.ค. – อธิบดีกรมอุทยานฯ ระบุทีมสัตวแพทย์ร่วมตรวจสุขภาพลูกเสือของกลาง ซึ่งนำมาดูแลที่สวนสัตว์บึงฉวาก พบขาหลังไม่แข็งแรง ให้กินนมและเนื้อวัว เสริมด้วยแคลเซียม โดยเลี้ยงเดี่ยวอาคารเลี้ยงดูลูกสัตว์ที่เปิดรับแสงแดดได้ในยามเช้า แต่ยังไม่ปล่อยเดินเล่นภายนอก เนื่องจากต้องกักโรค 7 วัน
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ได้รับรายงานจากนายอนันต์ ศรีผุดผ่อง หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวากและศูนย์พัฒนาการจัดการสัตวป่าบึงฉวาก สพ.ญ.มัชฌมณ แก้วพฤหัสชัย หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ชำนาญการ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวากและศูนย์พัฒนาการจัดการสัตวป่าบึงฉวาก ถึงผลการตรวจสุขภาพลูกเสือโคร่งของกลาง ซึ่งนำส่งศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก (สวนสัตว์บึงฉวาก) จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อเวลา 05.00 น. วันนี้ (18 พ.ค.67)
ลูกเสือโคร่งตัวนี้ เป็นเพศเมีย อายุประมาณ 3-4 เดือน น้ำหนัก 20.5 กิโลกรัม ทีมสัตวแพทย์ให้นม KMR (นมสำหรับลูกแมว) ชงให้กินทุก 3 ชั่วโมง ครั้งละ 500 มิลลิลิตร รวมถึงเนื้อวัวสับหยาบ วันละ 2 มื้อ มื้อละ 500 มิลลิกรัม
ทีมสัตวแพทย์ตรวจอาการเบื้องต้นพบว่า สองขาหลังลงน้ำหนักได้ แต่ไม่แข็งแรงมาก หรือมีภาวะขาหลังอ่อนแรง ซึ่งจะต้องตรวจดูอาการต่อไปอย่างต่อเนื่อง ต้องเสริมสารอาหารจำพวกแคลเซียม และให้กินอาหารที่ถูกหลักตามโภชนศาสตร์ที่ลูกเสือโคร่งควรได้รับตามหลักวิชาการ เพื่อป้องกันภาวะโรคกระดูกบางและกระดูกเสื่อมในลูกสัตว์ได้ โดยแคลเซียมที่เสริมให้เป็นแคลเซียมแบบเม็ดสำหรับสุนัข
พฤติกรรมโดยทั่วไป มีความสนใจสิ่งแวดล้อมดี มีพฤติกรรมค่อนข้างติดคน และอยากใกล้ชิดคนตลอดเวลา
สำหรับการเลี้ยงดูแล จะต้องแยกเลี้ยงเดี่ยวอาคารเลี้ยงดูลูกสัตว์ เพื่อกักโรค 7 วัน จึงไม่ปล่อยเดินเล่นภายนอก โดยอาคารเลี้ยงดูลูกสัตว์สามารถเปิดรับแสงแดดได้ในยามเช้า
ในระหว่างกักโรค ทีมสัตวแพทย์จะเจาะเลือดเพื่อตรวจสุขภาพทั่วไป และเก็บเลือดส่วนหนึ่งไปยังหน่วยนิติวิทยาศาสตร์ กรมอุทยานฯ เพื่อตรวจชนิดพันธุ์ของลูกเสือโคร่ง และฝังไมโครชิป เพื่อทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ป่าต่อไป.-512-สำนักข่าวไทย