นนทบุรี 17 พ.ค.-อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยสัญญาณเศรษฐกิจที่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นหลังรัฐบาล มีนโยบายชัดเจนในกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งการลงทุน และ โครงการ Digital Wallet ส่งผลให้ประชาชน และผู้ประกอบการ มีความมั่นใจมากขึ้น มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในเดือนเมษายน ทะลุ 6,500 ราย สูงสุดหากเทียบกับช่วงเดียวกันของทุกปี โดยทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นถึง 30.50%
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยจำนวนนิติบุคคล ที่จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในเดือนเมษายน 2567 พบว่า มีถึง 6,530 ราย ถือเป็นจำนวนที่สูงที่สุด ของเดือนเมษายนในทุกๆปี ตั้งแต่เปิดให้บริการจดทะเบียนมา 101 ปี โดยเพิ่มขึ้น 489 ราย หรือ 8.09% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี และมีมูลค่าทุนจดทะเบียน 27,271 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 6,373 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้นถึง 30.50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นสัญญาณเชิงบวก สะท้อนว่า ตัวเลขการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในไตรมาสที่ 2 จะสูงกว่าในปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีสัญญาณที่ดี ทั้งการขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ รวมทั้งนโยบายที่ชัดเจนในกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่าง โครงการ Digital Wallet สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจมากขึ้น โดยธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป และ ธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร
ส่วนธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตน่าสนใจอยู่ในกลุ่มธุรกิจด้านความบันเทิง คือ ธุรกิจเกี่ยวกับกิจกรรมของบริษัทโฆษณา ในเดือนเมษายน 2567 มีการจัดตั้งธุรกิจใหม่จำนวน 106 ราย และมีแนวโน้มเติบโตของการจัดตั้งธุรกิจที่ 32.50% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2566 ตามการเติบโตของสื่อดิจิทัลที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น และธุรกิจผลิตภาพยนตร์ ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยใน 4 เดือนแรกของปีนี้ ธุรกิจผลิตภาพยนตร์ ที่จดทะเบียนนิติบุคคล 56 ราย เพิ่มขึ้น 12% และทุนจดทะเบียน 195 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 146.44% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จากการฟื้นตัวของธุรกิจในอุตสาหกรรมหนังไทยที่มีการเปิดกว้างในความหลากหลายทางเพศมากขึ้น โดยเฉพาะซีรีส์วาย ที่สามารถสร้างกำไร และเม็ดเงินขยายไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโฆษณา ธุรกิจจัดกิจกรรม (Event) และธุรกิจท่องเที่ยว
สำหรับยอดการจัดตั้งธุรกิจใหม่สะสม 4 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวน 31,533 ราย แม้จะลดลงเล็กน้อย 2.14% และทุนจดทะเบียนรวม 95,212 ล้านบาท ลดลง 73.59% แต่มาจากในปีที่แล้ว มีการควบรวมกิจการของบริษัทที่มีมูลค่าทุนเกิน 100,000 ล้านบาท แต่ยังคาดว่าตัวเลขการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในครึ่งปีแรก จะอยู่ที่ 44,000 ถึง 47,000 ราย ขณะที่ การจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการเดือนเมษายน 2567 มีจำนวน 810 ราย ลดลง 126 ราย หรือ 13.46% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2566 โดยธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการ 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และ ธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร ส่งผลให้การจดทะเบียนเลิกสะสม 4 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-เมษายน 2567) รวม 3,619 ราย ลดลง 585 ราย หรือ 13.92% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทำให้จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2567 มีธุรกิจที่จดทะเบียนนิติบุคคลรวมทั้งสิ้น 1,908,768 ราย โดยมีนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่จำนวน 917,916 ราย ขณะที่ในส่วนของ การอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ในเดือนเมษายน 2567 มีจำนวน 75 ราย เพิ่มขึ้น 5 ราย หรือ 7%เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2567 โดยนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 3 อันดับแรก คือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ ส่งผลให้ 4 เดือนแรก มีการอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย 253 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 36 ราย หรือ 17% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 เกิดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 54,958 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,256 ล้านบาท หรือ 42% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 เป็นต้น.-514-สำนักข่าวไทย