กรุงเทพฯ 30 เม.ย. – ปลัดเกษตรฯ” ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา ปี 2567 เป็นประธานในพิธีบวงสรวงพระพิรุณทรงนาค สัญลักษณ์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อความเป็นสิริมงคล ยืนยันทุกฝ่ายพร้อมจัดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ โดยจะมีการซ้อมใหญ่ครั้งที่สอง 7 พ.ค. นี้ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา ประจำปีพุทธศักราช 2567 เป็นประธานในพิธีบวงสรวงบูรพกษัตริย์ เทวดา องค์พระพิรุณทรงนาค และ
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อความเป็นสิริมงคลในการจัดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ โดยมี เทพีคู่หาบทอง เทพีคู่หาบเงิน คู่เคียงพระยาแรกนา และผู้อัญเชิญเครื่องราชอิสริยยศ พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมสักการะพระพุทธรูปประจำอาคาร 1 ชั้น 4 (ห้องพระพิรุณ) ศาลพระภูมิ ศาลท้าวเวสสุวรรณ ศาลตา-ยาย และองค์พระพิรุณทรงนาค (ห้องพิพิธภัณฑ์)
ปี 2567 สำนักพระราชวังกำหนดให้วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม
2567 เป็นวันสวดมนต์เริ่มการ “พระราชพิธีพืชมงคล ” อันเป็นพระราชพิธีทางสงฆ์ ซึ่งประกอบพระราชพิธีในพระอุโบสถ
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งถือเป็นวันเกษตรกรด้วย และวันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม 2567 กำหนด
เป็นวัน “พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” (วันไถหว่าน) อันเป็นพิธีพราหมณ์จะประกอบพระราชพิธี ณ มณฑลพิธี
ท้องสนามหลวง ฤกษ์พิธิ์ไถหว่าน ระหว่างเวลา 08.09 – 08.39 น.
นายประยูรกล่าวว่า ขณะนี้ทุกฝ่ายมีความพร้อมในการจัดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ โดยจะมีการซ้อมใหญ่อีกครั้งในวันที่ 7 พฤษภาคมนี้
ในปีนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เตรียมพร้อมเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทานสำหรับประกอบพระราชพิธีรวม 8 พันธ์ุ โดยเป็นข้าวนาสวน 6 พันธุ์ ได้แก่ 1) พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105
จำนวน 903 กิโลกรัม 2) พันธุ์ กข 43 จำนวน 300 กิโลกรัม 3) พันธุ์ กข 81 จำนวน 200 กิโลกรัม 4) พันธุ์ กข 85
จำนวน 200 กิโลกรัม 5) พันธุ์ กข 87 จำนวน 300 กิโลกรัม 6) พันธุ์ กข 95 จำนวน 200 กิโลกรัม นอกจากนี้มีพันธุ์ข้าวเหนียว
2 พันธุ์ ได้แก่ 1) พันธุ์ กข 6 จำนวน 540 กิโลกรัม และพันธุ์สันป่าตอง 1 จำนวน 100 กิโลกรัม น้ำหนักรวมทั้งสิ้น 2,743
กิโลกรัม
พระโคแรกนา ได้แก่ พระโคพอ และพระโคเพียง พระโคสำรอง
ได้แก่ พระโคเพิ่ม และพระโคพูล
ทั้งนี้ งานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพระราชพิธีที่สืบเนื่องมาแต่โบราณมีความงดงามและมีความหมายต่อพสกนิกรชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชีพการทำนาและผู้ประกอบอาชีพการเกษตร กำหนดจัดขึ้นในราวเดือนหกของทุกปี หรือเดือนพฤษภาคมที่มีฤกษ์ยามที่เหมาะสมต้องตามประเพณี ให้จัดขึ้นในเวลานั้นอันถือเป็นเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มต้นฤดูกาลแห่งการทำนา ซึ่งเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย เพื่อความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญเกษตรกรให้เกิดความมั่นใจในการเพาะปลูก เป็นพระราชพิธีที่สืบทอดมายาวนาน ตั้งแต่ครั้งสมัย
กรุงสุโขทัยเป็นราชธานีและได้กระทำเต็มรูปบูรพประเพณีครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2479 เว้นไปจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2503 คณะรัฐมนตรีได้มีมติ
ให้ฟื้นฟูพระราชประเพณีนี้ขึ้นใหม่และได้กระทำติดต่อเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เว้นแต่ปี พ.ศ. 2563 – 2564 ซึ่งประเทศไทยประสบสถานการณ์
การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จึงมิได้มีการจัดงานพระราชพิธีฯ และเริ่มจัดพระราชพิธีในรูปแบบปกติเมื่อปี 2565 จนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันพระราชพิธีพืชมงคล เป็น“วันเกษตรกร” ประจำปีด้วย เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรร่วมกันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เพื่อเป็นสิริมงคล
แก่อาชีพทางเกษตรกรรมซึ่งเป็นอาชีพที่มีความสำคัญยิ่งต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศชาติ ในงานพระราชพิธีฯ
ยังมีการมอบรางวัลและยกย่องประกาศเกียรติคุณให้แก่เกษตรกร สถาบันเกษตรกรและสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติประเภทต่าง ๆ รวมทั้งปราชญ์เกษตรของแผ่นดินที่ผ่านการคัดเลือก พร้อมทั้งเผยแพร่ผลงานให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้จักและยึดถือเป็นแบบอย่างในแนวทางการปฏิบัติอีกด้วย.-512-สำนักข่าวไทย